xs
xsm
sm
md
lg

ชลประทานเชียงใหม่เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบด่วนหลังพบปลากระชังแม่น้ำปิงตายเป็นเบือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - ชลประทานเชียงใหม่เร่งตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำปิงช่วงไหลผ่านอำเภอหางดง หลังเกิดเหตุปลาในกระชังที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ตายจำนวนมาก เบื้องต้นผลตรวจวัดคุณภาพน้ำพบอยู่ในเกณฑ์ดีไม่มีค่าที่ผิดปกติ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ผู้เลี้ยงปลาในกระชังงดเลี้ยงปลาในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากมีหลายปัจจัยเสี่ยงสูงทำเสียหาย


จากกรณีที่มีข่าวปลากระชังเลี้ยงในแม่น้ำปิง เขตพื้นที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากประสบปัญหาน้ำเริ่มเน่าเสีย ทำให้ปลาขาดอากาศหายใจนั้น วันนี้ (15 มี.ค. 65) นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้ นายพร้อมพงศ์ บริพันธ์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 โครงการชลประทานเชียงใหม่ และนางสาวชลมาศ ทองคำ นายช่างชลประทานชำนาญงาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องคุณภาพของน้ำและตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา

เบื้องต้นจากการสอบถามเจ้าของกระชังปลา เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยสภาพของแม่น้ำปิงในวันดังกล่าวพบว่ามีผักตบชวาลอยเข้ามาที่กระชังปลาเป็นจำนวนมาก ก่อนจะมาพบว่าปลาในกระชังที่เลี้ยงไว้น็อกและตายเป็นจำนวนมาก ขณะที่ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ได้นำอุปกรณ์เข้าวัดคุณภาพน้ำบริเวณกระชังปลา พบว่าค่าออกซิเจนในน้ำ ค่าสารพิษ และคุณภาพของน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนสาเหตุที่ทำให้ปลาน็อกและตายจำนวนมากอาจจะเกิดมาจากผักตบชวาที่ลอยเข้ามาทำให้ออกซิเจนในน้ำไม่เพียงพอ แต่ต้องรอให้กรมควบคุมมลพิษ และทางประมงจังหวัดเข้ามาตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงอีกครั้ง

ด้าน นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี แต่เนื่องจากในห้วงเดือนมีนาคม-เมษายน ของทุกปีเป็นช่วงฤดูแล้ง น้ำมีปริมาณน้อย ประกอบกับอาจจะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้นในพื้นที่ ส่งผลให้คุณภาพน้ำอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้หลังจากที่มีฝนตกลงมา ทำให้ปลาน็อกและตายได้เช่นกัน ทั้งนี้ ทางชลประทานเชียงใหม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้กับทางผู้เลี้ยงปลากระชังได้รับทราบว่าใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูแล้งแล้ว การเลี้ยงปลาในกระชังก็จะมีความเสี่ยง จึงขอความร่วมมือผู้เลี้ยงปลาในกระชังงดเลี้ยงปลาในช่วงฤดูแล้งเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย










กำลังโหลดความคิดเห็น