ศูนย์ข่าวขอนแก่น - วุ่นวายไม่จบไม่สิ้น! สำหรับ รพ.ขอนแก่น ล่าสุด “นพ.เกรียงศักดิ์” ผอ.โรงพยาบาลเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 3 คุณหมอผู้ใต้บังคับบัญชาของตัวเองข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท กรณีเป็นตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์เข้าร้องเรียนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นตรวจสอบความโปร่งใสการบริหารงาน โดยศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง 9 พ.ค.นี้
กลายเป็นโรงพยาบาลที่มีแต่เรื่องราววุ่นวายให้ผู้คนในสังคมวิพากษ์วิจารณ์ไม่รู้จบ! แทนที่บุคลากรทุกส่วนงาน โดยเฉพาะบุคลากรที่เป็น “หมอ” จะได้ทุ่มเทความรู้ความชำนาญที่ร่ำเรียนศึกษามาในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่นอนรอความช่วยเหลืออยู่หลายร้อยหลายพันชีวิตอย่างเต็มที่ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แต่ทุกวันนี้ คุณหมอหลายท่านในสถานพยาบาลแห่งนี้กลับต้องทำงานด้วยความรู้สึกหน้าชื่นอกตรม เพราะสมาธิการทำงานถูกคุกคามจากความกังวลเรื่องคดีความที่ถูก นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.โรงพยาบาล ซึ่งเป็นถึงผู้บังคับบัญชา แจ้งความฟ้องร้องเป็นคดีความขึ้นโรงขึ้นศาล
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2565 นพ.เกรียงศักดิ์ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ใต้บังคับบัญชาของตัวเอง 3 ราย คือ พญ.จรรยาภรณ์ รัตนโกศล นายแพทย์เชี่ยวชาญและอดีตประธานควบคุมภายในโรงพยาบาลขอนแก่น, นพ.ธรรมสรณ์ จีรอาพรวัฒน์ นายแพทย์เชี่ยวชาญและอดีตประธานตรวจสอบภายใน พร้อมด้วย พญ.รักฝัน สวัสดิ์พาณิชย์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษและประธานองค์กรแพทย์โรงพยาบาลขอนแก่น ในคดีอาญา ข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท
ปมเหตุที่ ผอ.เกรียงศักดิ์ไม่พอใจผู้ใต้บังคับบัญชาทั้ง 3 ท่านข้างต้น ถึงขั้นแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 64 พญ.จรรยาภรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมภายในโรงพยาบาลขอนแก่นในขณะนั้น พร้อมด้วยตัวแทนองค์กรแพทย์และเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลขอนแก่นจำนวนหนึ่งได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นพ.ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ขอให้มีการตรวจสอบการบริหารงานของ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของพวกเขาเอง
สำหรับข้อร้องเรียนขอให้ตรวจสอบมี 4 ประเด็น คือ การจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ถูกระเบียบตามขั้นตอนพัสดุ โดยเฉพาะการจัดซื้อชุดตรวจ ATK โดยไม่มีเรื่องเสนอซื้อ ไม่มีการออกใบสั่งของ รพ. ไม่มีการสืบและต่อรองราคา การจัดซื้อจะอ้างสถานการณ์ฉุกเฉินตามหนังสือฉบับ ว.115 ว่าสามารถซื้อของเฉพาะเจาะจงบริษัทได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตามระเบียบการจัดซื้อจะต้องมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนจริงหรือไม่
ทั้งยังพบอีกว่าบริษัทที่ ผอ.เกรียงศักดิ์จัดซื้อชุดตรวจ ATK นั้น เป็นบริษัทที่องค์การเภสัชฯ ไม่เห็นด้วย จนทางองค์การเภสัชฯ เองได้ยื่นร้อง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบ และดำเนินคดีต่อ นพ.เกรียงศักดิ์ไปแล้วเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีการจัดซื้อชุดตรวจเอทีเคจำนวนมากที่เป็นลักษณะของการสั่งการ มากกว่าการปฏิบัติตามกฎของราชการ หวั่นจะส่งผลเสียหายต่อทางราชการได้ ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องใช้งบประมาณมากต้องผ่านคณะกรรมการตรวจสอบให้พิจารณาร่วมกัน ไม่ใช่ให้เกิดการสั่งการซื้อเพียงคนเดียว
อีกทั้งยังพบอีกว่า นับตั้งแต่ที่ ผอ.เกรียงศักดิ์มานั่งบริหารโรงพยาบาลขอนแก่นนั้น จะมีการดำเนินการขอขยายการมอบอำนาจเพิ่มวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างทุกวิธีในการปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นให้กับผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลมีข้อสงสัยกันเป็นอย่างมาก
ซึ่งภายหลังการเข้ายื่นหนังสือของบุคลากรทางการแพทย์ให้ตรวจสอบการบริหารงานของผู้บริหารสูงสุดของโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่แห่งนี้เป็นข่าวใหญ่โตตามหน้าสื่อทุกแขนง นพ.เกรียงศักดิ์ได้มีคำสั่งปรับโครงสร้างและแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารและกรรมการนโยบายของโรงพยาบาลขอนแก่นใหม่ทั้งหมด มีการปลดคณะกรรมการที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการกลั่นกรอง ตรวจสอบและดำเนินงานด้านธรรมาภิบาล 9 คณะ, ยุบศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558
รวมไปถึงออกหนังสือสั่งย้ายบุคลากรระดับหัวหน้างานภายในโรงพยาบาลอย่างกะทันหันชนิดที่เจ้าตัวแบบช็อกเพราะไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้า ต่างกังขาว่าทำไมต้องถูกย้าย ไม่ได้ทำผิดระเบียบข้อใดแม้แต่นิด ที่สำคัญไม่มีคำชี้แจงเหตุผลการสั่งย้าย หนำซ้ำยังเป็นการสั่งย้ายไปยังหน่วยงานที่ไม่ตรงกับคำสั่งบรรจุและกรอบวิชาชีพ
แหล่งข่าวระดับบริหารใน รพ.ขอนแก่นท่านหนึ่งระบุว่า กรณี ผอ.โรงพยาบาลฟ้องร้องดำเนินคดีต่อบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นข้าราชการที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตัวเองครั้งนี้น่าจะเป็นเคสแรกที่เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุข สิ่งที่เกิดขึ้นเสมือนหนึ่งว่าตัวท่าน ผอ.เกรียงศักดิ์กินปูนร้อนท้อง เมื่อถูกร้องเรียนเพราะต้องสงสัยว่าบริหารงานไม่โปร่งใส ก็ควรจะปล่อยให้กระบวนการตรวจสอบดำเนินการไปตามขั้นตอน หากไม่ได้ทำอะไรผิดก็ไม่ต้องวิตกกังวลใดๆ
ที่สำคัญ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นต้นสังกัดก็ได้มีนโยบายให้ผู้บริหารของหน่วยงานเปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถตรวจสอบการทำงานของตนได้ และตามประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านทุจริต "กระทรวงสาธารณสุขใสสะอาด ร่วมต้านทุจริต" ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ชัดเจนว่าหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระทรวงสาธารณสุขต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ภายใต้หลักธรรมาภิบาล
ดังนั้น การที่มีผู้ใต้บังคับบัญชาของท่าน ผอ.เกรียงศักดิ์ไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสาธารณสุขจังหวัดก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ทำได้ ไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาทให้ ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่นต้องเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียงแต่อย่างใด ทุกอย่างอยู่ภายใต้กรอบปฏิบัติธรรมาภิบาลองค์กร
อย่างไรก็ตาม มีรายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเอง ภายหลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากแพทย์-พยาบาล ฯลฯ ก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา 1 ชุด มี นพ.ดนัย ธีวันดา นายแพทย์สาธารณสุขนิเทศก์เขต 10 เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงในวันที่ 8-9 ธ.ค. 2564 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริงจากพยานและหลักฐานทางเอกสารเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
สำหรับคดีความที่ นพ.เกรียงศักดิ์ได้ยื่นฟ้องผู้ใต้บังคับบัญชานั้น ศาลได้นัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 9 พ.ค. 65 นี้ ซึ่งทางผู้ถูกกล่าวหายืนยันว่าพร้อมต่อสู้และชี้แจงในชั้นศาล เนื่องจากการเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนการทำงานของผู้บริหาร รพ.ขอนแก่นนั้น เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เหตุการณ์การฟ้องร้องตัวแทนที่ยื่นหนังสือดังกล่าวก่อให้เกิดความสงสัย และกังขาแก่สังคมเป็นอย่างมาก ถึงเรื่องความสุจริต โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ว่าสามารถบังคับใช้ได้จริงหรือไม่เพียงใดหรือเป็นแค่ข้อความที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อสร้างภาพเท่านั้น!!!