ศูนย์ข่าวขอนแก่น - งานใหญ่ที่ใครก็ไม่ควรพลาด 25 ก.พ.-6 มี.ค.นี้ CEA ร่วมกับจังหวัดขอนแก่นผนึกพลังหน่วยงานภาครัฐ เอกชน จัดเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด "ติง ลิ่ง ติง -Think Link Things" โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจที่ผลิตสินค้าสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในภาคอีสานร่วมออกบูทจำหน่ายมากกว่า 300 ราย
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า นับเป็นอีกความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้เข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนและผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภูมิภาคอีสาน ผ่านเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2565 หรือ ISAN Creativeal 2022 ที่จัดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 25 ก.พ.-6 มี.ค.นี้ เป็นการต่อยอดจากปีก่อน ซึ่งประสบความสำเร็จและสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างจัดเทศกาลฯ รวมเป็นจำนวนสูงถึง 309 ล้านบาท ด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งแบบ On-site และ online กว่า 276,069 คน
โดยปีนี้ยังคงมุ่งเน้นเปิดพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์ได้แสดงพลังความสร้างสรรค์ของศิลปวัฒนธรรมอีสานผ่านสาขาอาชีพสร้างสรรค์ต่างๆ และสร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจสร้างสรรค์ในภาคอีสาน นำเสนอจุดแข็งของภูมิภาคอีสาน ที่อุดมไปด้วยสินทรัพย์และทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และมีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดให้เกิดธุรกิจใหม่ ที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดยุคดิจิทัล ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศทั้ง 15 สาขา ซึ่งในปี 2563 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1.19 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2565 เป็นเทศกาลฯ ที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่างๆ ในภาคอีสาน ที่สามารถแสดงศักยภาพด้านการออกแบบ ตลอดจนเชื่อมโยงการแก้ปัญหาและการพัฒนาเมืองในหลายมิติ ทั้งด้านสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม การศึกษา ที่สามารถยกระดับการเพิ่มมูลค่าให้แก่ตันทุนทางวัฒนธรมพื้นถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแรงพลังที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจและสังคมไทยก้าวผ่านวิกฤตการณ์โรคโควิด-19
ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในนามของจังหวัดขอนแก่นรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จังหวัดขอนแก่นได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดงาน "เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2565" อีกครั้ง กล่าวได้ว่าขอนแก่นเป็นจังหวัดที่เปี่ยมไปด้วยสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งยังเป็นศูนย์กลางความเจริญทั้งด้านการค้า การลงทุนการบริการและการท่องเที่ยว การจัดงาน "เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2565" จึงไม่เพียงสะท้อนศักยภาพของจังหวัดขอนแก่นและภูมิภาคอีสานที่เปี่ยมล้นไปด้วยความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม
แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของชาวอีสานในการต่อยอดสินค้าและบริการ จากต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีให้กลายเป็นสินค้าและบริการที่ตอบสนองกับบริบทใหม่ของโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร ดนตรีงานหัตถกรรม และมรดกทางวัฒนธรรมของการทอผ้ามัดหมี่
"การทอผ้ามัดหมี่เป็นมรดกอันล้ำค่าที่ทำให้ขอนแก่นได้รับการประกาศให้เป็นเมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยไปทั่วโลก เป็นอัตลักษณ์สร้างให้อีสานเป็นที่รู้จัก และสามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้ในอนาคตต่อไป" ดร.สมศักดิ์กล่าว
ด้าน นายธีระศักดิ์ ทีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครนครขอนแก่น กล่าวต่อว่า "เทศกาลความคิดสร้างสรรค์ฯ เป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง อันจะเห็นได้จากในหลายโครงการขอนแก่นร่วมกับ CEA รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมย่านสร้างสรรค์ศรีจันทร์และกังสดาลให้เกิดการพัฒนาเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ เทศกาลอีสานสร้างสรรค์
จึงเปรียบเสมือนชุมทางของนักสร้างสรรค์ในการสร้างผลงานระดับสากล เป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการต่อยอดวัฒนธรรมของอีสานสำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างประโยชน์ให้กลับคืนไปสู่พี่น้องชาวอีสานเอง และเป็นการสร้างและเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภูมิภาค
ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปทุกกลุ่มวัย สามารถเข้าชมในพื้นที่จัดแสดงได้อย่างทั่วถึงและปลอดความกังวล คณะผู้จัดงานได้มีการจำกัดจำนวนการเข้าชมในพื้นที่ การลงทะเบียนล่วงหน้าก่อนเข้าร่วมงาน และแพลตฟอร์ม Crowd Check ที่ให้ข้อมูลความหนาแน่นของการใช้งานในแต่ละพื้นที่แบบเรียลไทม์ ให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถวางแผนการเดินทางได้ก่อนล่วงหน้า และบางกิจกรรมสามารถเข้าชมงานทางออนไลน์ เช่น เสวนา ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ Isan Creative Festival
การจัดงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ครั้งนี้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างปลอดภัยสูงสุด ตามมาตรฐานที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยผู้เยี่ยมชมงานทุกท่านจะต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน 2 เข็มขึ้นไป หรือแสดงผลตรวจ ATK ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนเข้างาน