xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! พบคนชายขอบเนินมะปรางยังต้องดื่มน้ำคลอง-ทั้งอำเภอมีเอกสารสิทธิแค่ 3% “วัดโบสถ์” บางหมู่บ้านไม่มีไฟใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิษณุโลก - คณะวุฒิสมาชิกถึงกับอึ้ง..คนชายขอบเนินมะปรางไม่มีน้ำประปาใช้ ทุกวันนี้ยังต้องดื่มน้ำคลอง แถมทั้งอำเภอมีที่ดินมีเอกสารสิทธิเพียง 3% ขณะที่ “วัดโบสถ์” บางหมู่บ้านปี 2022 ยังไม่มีไฟฟ้าใช้


พล.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ รองประธานโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนล่าง) นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ประธานคณะกรรมาธิการ การต่างประเทศ พล.อ.สำเริง ศิวาดำรง พล.อ.ชาต ดิตถะสิริ นายวัฒนา แก้วจินดา ว่าที่ ร้อยตรี วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี นายแพทย์ ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ พร้อมคณะสมาชิกวุฒิสภา ได้ลงพื้นที่อำเภอเมือง อ.บางระทุ่ม-อ.เนินมะปราง ระหว่าง 18-19 ก.พ.เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

วันแรก คณะฯ ได้เข้าสักการะศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชมประวัติความเป็นมาของวัดปากพิงตะวันตก ต.งิ้วงาม อ.เมืองพิษณุโลก ก่อนพบปะประชาชนที่ศาลาวัดห้วยแก้ว ต.บางกระทุ่ม อ.บางกระทุ่ม โดยมีนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ข้าราชการและผู้นำท้องที่ ร่วมต้อนรับและนำเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านบางกระน้อย หมู่ที่ 2 ต.นครป่าหมาก อ.บางกระทุ่ม พร้อมรับฟังปัญหาจากผู้นำท้องถิ่นและประชาชน ซึ่งมีผลกระทบหลายด้าน เช่น แหล่งน้ำ เส้นทางคมนาคมฯลฯ

นายปราโมท เมืองเปรม นายก อบต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ได้ยื่นหนังสือต่อคณะสมาชิกวุฒิสภา กรณีปัญหาชาวบ้านหมู่ 7 บ้านแก่งคันนา ต.คันโช้ง ไม่มีไฟฟ้าใช้มานานหลายสิบปี เนื่องจากต้องตัดผ่านเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งในที่ประชุมระบุว่าจะต้องรออธิบดีกรมป่าไม้อนุมัติเท่านั้น

วันที่สอง คณะสมาชิกวุฒิสภาได้เดินทางไปพบปะประชาชนที่สำนักงานเทศบาลตำบลเนินมะปราง ซึ่งนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าฯ พิษณุโลก นายไสว เจริญศรี นายอำเภอเนินมะปราง และผู้นำท้องที่ นำชาวบ้านในพื้นที่เสนอปัญหาพื้นที่ทำกินไม่มีเอกสารสิทธิ ขาดแคลนแหล่งน้ำ การขออนุญาตใช้ไฟฟ้าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ การแก้ปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน เพราะไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ

ทั้งนี้ คณะวุฒิสมาชิกรับฟังปัญหาและเอกสารเพื่อนำเสนอรัฐบาลต่อไป อย่างไรก็ตาม คณะสมาชิกวุฒิสภาและผู้ว่าฯพิษณุโลกได้ชี้แจงแนวทางการแก้ปัญหาให้เบื้องต้นแล้ว ขณะที่นายธีรัชสิทธิ์ วงศ์วาน ผอ.สทจ.พิษณุโลก รับปากจะดำเนินการติดตามให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 คนอยู่กับป่า และแก้ปัญหาการขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนและเขตอุทยานฯ

พื้นที่อำเภอเนินมะปรางแทบทั้งหมดล้วนเป็นที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ส่วนใหญ่เป็นที่ดินป่าสงวนแห่งชาติและที่อุทยานฯ มีเอกสารสิทธิเพียง 3% เฉพาะบริเวณรอบๆที่ว่าการอำเภอเนินมะปรางเท่านั้น


ต่อมาคณะสมาชิกวุฒิสภาเดินทางไปพบปะชาวบ้านน้ำดั้น หมู่ที่ 3 ต.ชมพู อ.เนินมะปราง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ซึ่งนายบุญชนะ คลองภูเขียว นายก อบต.ชมพู เสนอปัญหาว่า ชาวบ้านประสบปัญหาน้ำอุปโภค-บริโภค เพราะติดปัญหาเขตอุทยานฯ ปัจจุบันใช้วิธีดึงน้ำลำห้วยมาขึ้นแท็งก์แจกจ่าย และนำรถน้ำ อบต.ชมพู มาให้บริการบรรเทาความเดือดร้อน อย่างไรก็ตาม อบต.ได้ทำหนังสือประสานไปยัง ทสจ.พิษณุโลกเรียบร้อยแล้ว รอขออนุญาตเจาะบ่อน้ำบาดาลต่อไป

ทั้งนี้ "บ้านน้ำดั้น" ตั้งอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ต้องผ่านประตูเข้าออก สล.5 (วังแดง) ไป 2-3 กิโลเมตร มีประชากรเกือบ 200 ครัวเรือน เกือบพันคน ประสบปัญหาน้ำอุปโภค-บริโภค ปัจจุบันชาวบ้านใช้น้ำจากลำคลอง โดยดึงน้ำขึ้นไปกักเก็บแท็งค์สูง จากนั้นปล่อยแจกจ่ายประชาชนในหมู่บ้าน บางครั้ง อบต.ชมพู ต้องนำรถบรรทุกน้ำมาแจกจ่ายลดปัญหาความเดือดร้อน

ที่ผ่านมา อบต.ได้ทำหนังสือไปที่ ทสจ.พิษณุโลก เพื่อขออนุญาตเจาะบ่อน้ำบาดาล ซึ่งขณะนี้กำลังรอรับการอนุญาต หากผ่าน อบต.ชมพู จะดำเนินการตั้งงบประมาณจัดสร้างสูบน้ำบาดาลมาใช้ต่อไป

ขณะที่ชาวบ้านเสนอปัญหากลางที่ประชุมของคณะวุฒิสมาชิกให้ขอแยกหมู่บ้าน "บ้านน้ำดั้น" ทำให้คณะ ส.ว. และผู้ว่าฯ ต้องรีบชี้แจงแก่ชาวบ้านว่าการขอแยกหมู่บ้านเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะต้องมีการตรวจสอบและความจำเป็น รวมทั้งอาจมีปัญหาด้านอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะกรณีหมู่บ้านยังอยู่ในเขตอุทยานฯ ทุ่งแสลงหลวงด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น