ภูมิภาค - 2 นักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เข้ารับรางวัลการวิจัยแห่งชาติในงาน “วันนักประดิษฐ์” 2 ก.พ. 65 ณ ไบเทค บางนา จากผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาแบตเตอรี่รูปแบบใหม่จากแก้วหน้าที่พิเศษและรางวัลวิทยานิพนธ์เพื่อพัฒนาวัสดุสำหรับเซ็นเซอร์ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้แก่ ดร.พินิจ กิจขุนทด ผู้จัดการระบบลำเลียงแสง ผู้ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี ประจำปี 2564 และปี 2565 และ ดร.สุทธิพงษ์ วรรณไพบูลย์ นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง ผู้ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี ประจำปี 2564 จากวิทยานิพนธ์ เข้ารับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ภายในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564-2565 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. และ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ร่วมมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ
ดร.พินิจ กิจขุนทด รับรางวัลผลงานวิจัย ประจำปี 2564 จากผลงานวิจัย “การศึกษา พัฒนาและสังเคราะห์วัสดุขั้นสูงสำหรับการประยุกต์ใช้งานขั้นสูง โดยใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน : แก้วระบบบอเรต สำหรับใช้เป็นขั้วแคโทดในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนศักยภาพสูง” และรางวัลผลงานวิจัย ประจำปี 2565 จากผลงานวิจัยเรื่อง “แก้วหน้าที่พิเศษสำหรับใช้กักเก็บพลังงานสะอาดแห่งอนาคต” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาวัสดุสำหรับผลิตแบตเตอรี่ในรูปของแข็งจากแก้วหน้าที่พิเศษ
ดร.สุทธิพงษ์ วรรณไพบูลย์ ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ จากผลงาน “การออกแบบเชิงโครงสร้างและการปรับปรุงคุณสมบัติฟิล์มบางของวัสดุรูพรุนโครงผลึกผสมโลหะและสารอินทรีย์ จากการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานเชิงลึกสู่การพัฒนาเพื่อการประยุกต์ใช้ประโยชน์จริง” เพื่อพัฒนาวัสดุตรวจวัดในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถขึ้นรูปเป็นฟิล์มบางบนพื้นผิวของหัววัดได้โดยตรง และทำการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติขององค์ประกอบภายในโครงสร้างวัสดุเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวัด ทำให้สามารถเพิ่มความจำเพาะเจาะจงต่อสารเป้าหมายได้ดีขึ้น และมีความคงทนต่อสภาวะการใช้งานจริง
นอกจากนี้ ดร.ณรงค์ จันทร์เล็ก ผู้จัดการระบบลำเลียงแสงและนักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง ยังมีส่วนร่วมในงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาและปรับปรุงสมบัติของอนุภาคแม่เหล็กนาโน และอนุภาคกราฟีนออกไซด์เพื่อการใช้งานทางด้านสิ่งแวดล้อม และการแพทย์” ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี ประจำปี 2564 ด้วย
สำหรับ “วันนักประดิษฐ์” จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงประดิษฐ์คิดค้น “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 และเพื่อเป็นการระลึกถึงวันประวัติศาสตร์การจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรแด่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก และทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” และ วช.ยังมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทย ที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้วงวิชาการและประเทศชาติ