xs
xsm
sm
md
lg

พ่อเมืองกาฬสินธุ์รณรงค์หยุดเผาตอซังในพื้นที่เกษตร ลดโลกร้อน เพิ่มผลผลิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาฬสินธุ์ - ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นำส่วนราชการและเกษตรกรรณรงค์หยุดเผาในพื้นที่เกษตร นำร่องหนุนเกษตรกรใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนของเสียให้มีประโยชน์ ลดมลพิษในอากาศ ลดต้นทุนผลิต เกิดความสมบูรณ์ของดินและอินทรียวัตถุ ได้ผลผลิตสูงขึ้น

นายทรงพล  ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์
ที่แปลงเกษตรกร นายสุนัน มิทะรา บ้านโนนตูม ต.หนองตอกแป้น อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานพิธีเปิดงานนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุทดแทนการเผา ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ปี 2565 โดยมีนายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์, นายชานุวัฒน์ วรามิตร นายก อบจ.กาฬสินธุ์, นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ และหัวหน้าส่วนราชการร่วมงาน

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า งานนำร่องสาธิตเทคโนโลยีจัดการเศษวัสดุทดแทนการเผา ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาดังกล่าว จัดโดยสำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับอำเภอยางตลาด สำนักงานเกษตรอำเภอยางตลาด องค์การบริหารส่วนตำบลหนองตอกแป้น ภาคเอกชน เครือข่ายเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา สร้างจิตสำนึกการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ทำเกษตรปลอดการเผา รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรนำเอาวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างมูลค่าและเพิ่มผลผลิต

ปัญหาหมอกควันปกคลุมและเกิดมลพิษทางอากาศ มีสาเหตุหนึ่งมาจากการเผาในที่โล่ง ทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ซึ่งการเผาส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อการทำอาชีพเกษตรโดยตรง คือทำให้ดินเสื่อม ขาดความอุดมสมบูรณ์และส่งผลเสียด้านเศรษฐกิจ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และผลผลิตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น






นายทรงพลกล่าวต่อว่า จ.กาฬสินธุ์จึงมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรลดการเผา โดยขอความร่วมมือเกษตรกรหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ซึ่งการหาวิธีการจัดการในไร่นาที่เหมาะสม เช่น ไถกลบตอซังในแปลงนาข้าว เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต การทำฟางอัดก้อนเพื่อเพิ่มมูลค่าจากเศษวัสดุและสร้างรายได้หลังจากทำนา การทำเห็ดฟางจากเศษฟางข้าว เพื่อเป็นรายได้เสริมและลดการเผาฟางข้าว

รวมทั้งการทำปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนผลิต อีกทั้งยังมีการดำเนินโครงการแปลงนาสาธิตปลอดการเผา เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบผลด้วยการทำนาแบบเผา และไม่เผาตอซัง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรเห็นถึงการลดค่าใช้จ่ายต้นทุนที่ลดลง ผลผลิตที่สูงขึ้น อีกทั้งยังเกิดความสมบูรณ์ของดินและอินทรียวัตถุในดินอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น