xs
xsm
sm
md
lg

ชงแนวทางแก้ Internet ห่วยแตก เสนอทุกค่ายรวมเสาส่งบนดอย-ชายแดน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - กตป.เดินสายลงพื้นที่-เปิดเวทีรับฟังเสียง ปชช.สะท้อนปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตห่วยแตก..พบหลังประมูล 5G จนถึงวันนี้พื้นที่บนดอย-ห่างไกล-ชายแดน บางค่ายมาเต็ม บางค่ายบอดสนิท ชง กสทช.ดึงทุกค่ายตั้งเสาร่วมแทน


วันนี้ (14 ม.ค. 65) พ.อ.ดร.พีรวัส พรหมกลัดพะเนาว์ กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ด้านกิจการโทรคมนาคม (กตป.) ได้เป็นประธานเปิดงานโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตามและประเมินผลตามนโยบายคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการจัดขึ้น ณ ห้องประชุมโรงแรมเลอเมอริเดียน อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นประมาณ 120 คน

พ.อ.ดร.พีรวัสกล่าวว่า กตป.มีกำหนดการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพื่อติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานด้านกิจการโทรคมนาคมทั้งหมด 6 จังหวัด 5 ภาค ซึ่งภาคเหนือได้เลือกจัดขึ้นที่เชียงราย โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียในด้านกิจการโทรคมนาคมแสดงความคิดเห็น ทั้งด้านการประมูลคลื่นความถี่ต่างๆ การใช้เทคโนโลยี 5G ฯลฯ เพื่อรวบรวมข้อมูลนำไปประเมินและเสนอ กสทช.ต่อไป

เนื่องจากหลังมีการประมูลคลื่นความถี่ต่างๆ ไปแล้วตั้งแต่ปี 2563 พบว่ามีพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้คลื่นความถี่ 5G ได้และลดลงเหลือ 4G หรือ 3G หรือบางค่ายอินเทอร์เน็ตซึ่งมีอยู่ 3-4 ค่าย พบว่าบางค่ายไม่สามารถใช้คลื่นความถี่ใดๆ ได้เลย โดยจุดดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ห่างไกลและอยู่ตามแนวชายแดน

ล่าสุดตนได้นำคณะเดินทางไปสำรวจคลื่นพื้นที่ชายแดน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ปรากฏว่าบางค่ายสามารถให้สัญญาณที่ดีมากเพราะมีเสาส่งสัญญาณตั้งอยู่ แต่บางค่ายไม่มีเลย เนื่องจากไม่สามารถตั้งเสาส่งสัญญาณในพื้นที่ดังกล่าวได้ ซึ่งถือว่าส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการที่จำเป็นต้องใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างยิ่ง


“สภาพปัญหานี้เกิดขึ้นติดต่อกันมาหลายปีแล้ว ดังนั้นทาง กตป.ก็จะรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอไปยัง กสทช. รัฐบาล และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องให้ได้รับทราบ รวมทั้งกระตุ้นให้ประชาชนได้เข้าใจถึงสภาพปัญหาให้มากขึ้น”

ซึ่งสิ่งที่สามารถดำเนินการได้แนวทางหนึ่ง คือ การเชิญชวนค่ายอินเทอร์เน็ตทุกค่ายให้มาประชุมหารือกันเพื่อตั้งเสาส่งสัญญาณรวมทุกค่าย โดยมี กสทช.เป็นองค์กรกลาง ปัจจุบันมีทั้งโครงการดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างหารือ เพื่อให้มีการจัดสรรผลประโยชน์ผู้ประกอบการที่ลงตัว คาดว่าจะเป็นรูปธรรมได้ในเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะเมื่อมี กสทช.ชุดใหม่เข้ามาบริหารงาน

ส่วนกรณีไม่สามารถตั้งเสาส่งสัญญาณได้ในบางพื้นที่เพราะไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์นั้น คงต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนต่อไป เพราะองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ก็มีข้อมูลยืนยันว่าไม่เป็นอันตราย รวมทั้งมีข้อมูลทางวิชาการมากมายยืนยัน ซึ่งก็คงต้องเร่งมือให้ความรู้กันต่อไปเพื่อให้พื้นที่อับสัญญาณได้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต เพราะปัจจุบันชีวิตคนเราใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อประโยชน์โดยเฉพาะผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนทั้งข่าวสาร ธุรกรรมการเงิน การทำงาน ฯลฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น