xs
xsm
sm
md
lg

รวบต่างด้าวซุกบ้านร้างสถานีรถไฟคลองแขวงกลั่นฉะเชิงเทรา เผยทยอยเข้ากรุงก่อนฟ้าสางแล้วกว่า 100 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา - รวบต่างด้าวซุกสถานีรถไฟร้างบ้านคลองแขวงกลั่น ชาวบ้านหวั่นเป็นแหล่งรวมโรคแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 แจ้งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ เบื้องต้น จับกุมได้ 20 ราย เผยมีมากนับร้อยแต่ถูกทยอยลำเลียงเข้ากรุงเทพฯ ไปก่อนฟ้าสางแล้ว เชื่อขบวนการใหญ่ค้าแรงงานเถื่อน เร่งสอบสวนขยายผล

วันนี้ (8 ม.ค.) นายเชี่ยวชาญ เทพประดิษฐ์ ปลัดอาวุโส รักษาราชการแทนนายอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ฉะเชิงเทรา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ได้สนธิกำลังเข้าควบคุมตัวแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา จำนวน 20 คน เป็นชาย 15 คน และหญิง 5 คน รวมทั้งคนขับรถแท็กซี่ชาวไทยอีก 1 คน ภายอาคารร้างซึ่งเป็นบ้านพักพนักงานสถานีรถไฟคลองแขวงกลั่น

หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า มีการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายเข้ามาซุกซ่อนไว้ที่อาคารร้างดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.7 ต.บางเตย อ.เมืองฉะเชิงเทรา และหวั่นว่าจะเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโควิด-19

นายเชี่ยวชาญ เผยว่า จากการสอบสวน นายชัยพัฒน์ พลสิงห์ อายุ 40 ปี ชาว จ.สกลนคร คนขับรถแท็กซี่ ทราบว่า ได้เดินทางเข้ามารับช่วงส่งต่อรับแรงงานเถื่อนเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งในช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา ได้มีรถแท็กซี่หลายคันทยอยเดินทางเข้ามาในพื้นที่เพื่อขนแรงงานต่างด้าวเข้ากรุงเทพฯ แล้วนับ 100 คน โดยอ้างว่าไม่ทราบว่าต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาเป็นแรงงานผิดกฎหมาย


แต่เจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อและคาดว่าน่าจะทำกันเป็นขบวนการใหญ่จึงสามารถขนแรงงานผิดกฎหมายเข้าพื้นที่ชั้นในของไทยได้จำนวนมาก ซึ่งหลังจากนี้จะได้สอบสวนขยายผลจับกุมต่อไป

อย่างไรก็ดี แรงงานต่างด้าวที่ถูกควบคุมตัวได้ในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดได้เข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK ทั้งหมดแล้ว ซึ่งในเบื้องต้นยังไม่พบผู้ติดเชื้อ จึงได้นำตัวแรงงานต่างด้าวทั้งหมดส่งให้พนักงานสอบสวน ภ.จว.ฉะเชิงเทรา ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

และจากการสอบถาม นายจิม ชวด อายุ 42 ปี ชาว อ.กะแรง จ.เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา บอกว่า เมื่อหลายปีก่อนตนเองเคยเข้ามาทำงานก่อสร้างอยู่ในกรุงเทพฯ และได้เดินทางกลับบ้านเกิดตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งแรกเมื่อปี 2563 ซึ่งการเดินทางมาในครั้งนี้จำเป็นต้องเดินทางเข้าไทยอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่สามารถติดต่อผู้ที่ประสานงานในการทำพาสปอร์ตให้ใหม่ได้

โดยตนเองและเพื่อนยอมจ่ายเงินให้แก่ขบวนการผู้นำพาที่ฝั่งประเทศกัมพูชาไปแล้วคนละ 6,500 บาท และคาดว่าจะได้กลับไปทำงานกับทางนายจ้างที่เดิม แต่สุดท้ายกลับถูกเจ้าหน้าที่จับกุม










กำลังโหลดความคิดเห็น