xs
xsm
sm
md
lg

มทร.อีสานบุกแดนสะตอติวเข้มวิสาหกิจชุมชน เพิ่มทักษะ-ต่อยอดอาชีพภาคเกษตรกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภูมิภาค - มทร.อีสานบุกแดนสะตอติวเข้มวิสาหกิจชุมชนภาคใต้ 14 จังหวัดเพิ่มทักษะอาชีพภาคเกษตรกรรม
หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาด เผยอีก 3 เดือนจะประเมินเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั่วทุกภูมิภาคที่เข้าร่วมโครงการฯ ก่อนพิจารณาขอรับการสนับสนุนงบเพื่อต่อยอดให้เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป



ณ ห้องประชุม ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช ต.หนองหงส์ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร. อีสาน) ได้จัดโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ระหว่างวันที่ 21-30 ธันวาคม 2564 โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ในฐานะประธานที่ปรึกษาโครงการฯ เป็นประธานเปิดโครงการฯ โดยมี นายชัยวุฒิ ครุฑมาศ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช, ผศ.ดร.นิภาพร อามัสสา ประธานโครงการฯ พร้อมด้วยคณะทำงานโครงการ, ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภาคใต้ และสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภาคใต้ 14 จังหวัด ร่วมพิธีเปิด

ผศ.ดร.นิภาพร อามัสสา ประธานโครงการฯ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย ทำให้ประชาชนในภาคเกษตรกรรมเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วทุกภาคของประเทศ ประกอบกับที่ผ่านมาภาคการเกษตรถูกควบคุมการผลิต และระบบเกษตรและอาหารตลอดห่วงโซ่ ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยเหตุนี้เกษตรกรรมและอาหารในอนาคตควรจะเป็นการผลิตเพื่อเป้าหมาย “ความมั่นคงทางอาหาร” ที่จะเป็นทางออกและทางรอดของเกษตรกรไทย โดยจะต้องมีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อรองรับการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารต่อไป

เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนจึงได้ดำเนินการรวบรวมกลุ่มสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และต้องการกลับสู่ถิ่นฐานเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาการเกษตรของชุมชน พร้อมทั้งเป็นการทำงานเชิงบูรณาการอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ โดยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร. อีสาน) (อว.) นำเสนอโครงการอบรมฯ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจฐานรากประเทศไทย

ซึ่งมียุทธศาสตร์คือ เสริมสร้างชุมชนนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของชุมชนในพื้นที่ โดยสร้างหรือการใช้นวัตกรรม/บริการวิชาการด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน


ผศ.ดร.นิภาพร อามัสสา กล่าวต่อว่า คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 อนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อดำเนินงานโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้ อว. โดย มทร.อีสาน ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 407,229,585 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการอบรมดังกล่าว

สำหรับโครงการอบรม และส่งเสริมการพัฒนา ยกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมในครั้งนี้ ครอบคลุมเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์, ด้านประมง, สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP, พืชและเห็ดเศรษฐกิจ, หมอดิน New Normal และพืชสมุนไพร เพื่อรองรับแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมด้วยศาสตร์พระราชา เป็นแนวทางในการแก้ไขเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงวิกฤตของโรคโควิด-19 และสร้างภูมิคุ้มกันให้เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชน โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้รวม 514,800,000 บาท หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ย 200,000 บาท/ปี/ครัวเรือน หรือต่อเครือข่าย




ผศ.ดร.นิภาพรกล่าวในตอนท้ายว่า หลังจากจัดอบรมให้ความรู้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเรียบร้อยแล้ว โครงการจะสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้แก่เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชน ภาคเหนือ 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคกลาง 21 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคตะวันตก 5 จังหวัด และภาคใต้ 14 จังหวัด รวม 2,574 กลุ่ม

หลังจากนั้นอีกประมาณ 3 เดือน คณะทำงานโครงการฯ จะลงพื้นที่ประเมินผลการดำเนินการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำมาพิจารณาขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อต่อยอดให้เกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป


ด้าน นายทวี ประหยัด ในฐานะผู้ประสานงานโครงการฯ ภาคใต้ กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนภาคใต้ได้เข้าร่วมอบรมยกระดับอาชีพในครั้งนี้ รวม 300 กลุ่ม จาก 14 จังหวัด ระหว่างวันที่ 21-30 ธันวาคม 2564 โดยแบ่งกลุ่มเข้าอบรมยกระดับอาชีพ 6 ด้าน ได้แก่ ด้านปศุสัตว์ (การเลี้ยงเป็ดไข่ และไก่พื้นเมือง), ด้านประมง ((การเลี้ยงปลาหมอไทย และปลาดุก), สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP (สบู่, ยาสีฟัน, ครีมคลายเส้น และไข่เค็ม), พืชและเห็ดเศรษฐกิจ (เห็ดนางรม และเห็ดเยื่อไผ่), หมอดิน New Normal (ปุ๋ยชีวภาพ แบบน้ำ และแบบแห้ง) และพืชสมุนไพร (ตำรับยาจันทลีลา และตำรับยาอภัยสาลี)

นายทวีกล่าวต่ออีกว่า ขอขอบคุณ มทร.อีสาน โดยเฉพาะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิภาพร อามัสสา ประธานโครงการฯ ที่เปิดโอกาสให้พี่น้องวิสาหกิจชุมชนภาคใต้ได้มาเข้าอบรมเพื่อยกระดับอาชีพเกษตรกรรมในครั้งนี้ ซึ่งเดิมทีต่างคนก็ทำอาชีพอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติของกลุ่ม แต่ขาดปัจจัยสนับสนุน ในวันนี้ มทร.อีสานได้ให้ความสำคัญในการฝึกทักษะอาชีพให้แก่พี่น้องวิสาหกิจชุมชนภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด เพื่อต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้เกิดขึ้นแก่คนในชุมชน

"เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในโอกาสหน้าจะได้รับความเมตตาจากคณะรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้มีอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป"


กำลังโหลดความคิดเห็น