xs
xsm
sm
md
lg

แนะเกษตรกรลุ่มเจ้าพระยาทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ประหยัดการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชัยนาท - ชลประทานแนะเกษตรกรลุ่มเจ้าพระยาทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต และประหยัดการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง

วันนี้ (26 ธ.ค.) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะผู้บริหารกรมชลประทาน เดินทางไปประชุมและติดตามการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง 2564/65 และการส่งเสริมแนวทางการทำนาแบบเปียกสลับแห้งในเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 12 ณ เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท พร้อมลงพื้นที่พบปะเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท

นายเนรมิต เทพนอก รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 กล่าวว่า สำนักงานชลประทานที่ 12 มีพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานประมาณ 2.4 ล้านไร่ มีแผนปลูกข้าวนาปรังปี 2564/65 ประมาณ 8.3 แสนไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 34 โดยใช้ปริมาณน้ำต้นทุนจากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีแนวโน้มของปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา คาดว่าจะมีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานได้อย่างเต็มศักยภาพ

ดังนั้น กรมชลประทานจึงมีแนวนโยบายให้สำนักงานชลประทานที่ 12 ได้นำแนวทางการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้ปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก โดยเชิญเกษตรกรผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง มาให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ ได้แก่ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและพนักงานส่งน้ำ เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปแนะนำแก่เกษตรกรในพื้นที่ได้

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้เริ่มโครงการสาธิตการทำนาแบบเปียกสลับแห้งในปี 2558 ภายใต้โครงการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีพื้นที่นำร่อง 4 แห่ง ได้แก่ โครงการชลประทานเชียงใหม่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง จ.เชียงใหม่ โครงการชลประทานอุบลราชธานี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโดมน้อย จ.อุบลราชธานี รณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัดด้วยการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง (แกล้งข้าว) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การทำนาแบบใช้น้ำน้อย เป็นวิธีการบริหารจัดการน้ำในการทำนา

โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว สามารถลดปริมาณการใช้น้ำได้มากถึงร้อยละ 28 ของปริมาณน้ำที่ใช้ในการทำนาแบบทั่วไป ซึ่งโดยปกติจะใช้น้ำประมาณ 1,200 ลบ.ม.ต่อไร่ แต่ถ้าทำนาแบบแกล้งข้าว จะใช้น้ำเพียงประมาณ 860 ลบ.ม.ต่อไร่เท่านั้น นอกจากจะลดปริมาณการใช้น้ำลงแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย สารเคมี และน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวลง จากไร่ละประมาณ 5,600 บาท เหลือประมาณ 3,400 บาท ที่สำคัญยังทำให้คุณภาพข้าวดีขึ้น เพิ่มปริมาณผลผลิตได้สูงกว่าไร่ละ 1,200 กิโลกรัมได้อีกด้วย










กำลังโหลดความคิดเห็น