เชียงราย - กลุ่มผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลรายย่อยรวมตัวต้านกองสลากรื้อโควตาคนจนสังเวยข้อหาขายเกินราคา แต่ไม่ยอมแตะโควตา ขรก.-พนักงาน ม.33 ที่ผันตัวเป็นยี่ปั๊ว
วันนี้ (24 ธ.ค. 64) กลุ่มผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลในพื้นที่เชียงรายได้นัดหมายกันบริเวณหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายประมาณ 100 คน ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปยังอาคารศาลากลางจังหวัดฯ เพื่อยื่นหนังสือต่อนายภาสกร บุญญลักษณ์ ผู้ว่าฯ เชียงราย ขอให้ทบทวนการยกเลิกบัญชีผู้ลงทะเบียนสลากเสรีหรือโควตาหวยรัฐบาล หลังสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกบัตรกดเสรีทั้งหมดเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา และจะเปิดรับสมัครใหม่
ซึ่งแนวทางดังกล่าว ทางกลุ่มผู้ค้าสลากที่ได้รับการจัดสรรมาตั้งแต่ปี 2558 เห็นว่าจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนเพราะส่วนใหญ่เป็นผู้ค้ารายย่อยตัวจริง และหากมีการรับสมัครใหม่พวกเขาอาจจะไม่ได้รับสิทธิ์อีกครั้งจนทำให้ต้องตกงาน ดังนั้นจึงขอให้ทางสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ทบทวนการออกมาตรการดังกล่าวและเปลี่ยนเป็นการตรวจสอบสถานะของผู้ค้าสลากเป็นรายบุคคล หากผู้ใดไม่เข้าเงื่อนไขก็ให้พิจารณาตัดสิทธิเป็นรายๆ ต่อไป
นางมยุรี คงคาสวัสดิ์ หนึ่งในแม่ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มาร่วมเรียกร้อง กล่าวว่า เชียงรายมีผู้ที่ได้รับโควตาหวยรัฐบาลที่เป็นประชาชนทั่วไปจริงๆ ประมาณ 800 ราย ส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและผู้สูงอายุ รวมทั้งไม่มีอาชีพอื่นนอกจากขายหวยรัฐบาลเป็นหลัก
ขณะที่ยังมีกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับโควตาหวยรัฐบาลเช่นเดียวกัน แต่ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป เช่น พนักงานที่มีประกันสังคมมาตรา 33 ข้าราชการ คนที่ได้รับโควตาจากจังหวัด ฯลฯ กลับไม่มีการยกเลิก พวกตนจึงเห็นว่าหากจะตรวจสอบก็ควรจะดำเนินการทั้งหมด ไม่ควรยกเลิกสิทธิ์เฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะการยกเลิกกับผู้ค้าตัวจริงอย่างพวกตนที่เป็นคนจนและได้โควตาเพียงคนละ 5 เล่ม เพื่อนำมาขายตามราคาที่กำหนด
ขณะที่ปัญหาหวยรัฐบาลราคาแพงเกินกำหนด เกิดมาจากคนที่ไม่ใช่ผู้ค้าตัวจริงแต่ได้โควตามา และกลายเป็นยี่ปั๊วเพราะไม่มีเวลามาขายเองได้ เนื่องจากต้องทำงานส่วนตัว จึงนำหวยมาขายต่อให้บุคคลที่สาม ส่งผลทำให้ต้นทุนสูงเป็นใบละ 94 บาทและต้องขายตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป
ดังนั้นจึงขอให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการนี้ไปก่อน เพราะแม้ประกาศจะดำเนินการในเดือน เม.ย.-พ.ค. 2565 แต่พวกตนก็ปรับตัวไม่ได้ เนื่องจากไม่มีอาชีพอื่นรองรับและส่วนใหญ่มีฐานะยากจนด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินทางไปยังศาลากลาง จ.เชียงราย และได้ยื่นหนังสือพร้อมลายมือชื่อของผู้ชุมนุมทั้งหมดต่อนายกนก ศรีวิไชยนันท์ ปลัด จ.เชียงราย ซึ่งนายกนกระบุว่าเชียงรายมีผู้ค้าที่จะถูกยกเลิกสิทธิ์ดังกล่าวประมาณ 800 ราย และครั้งนี้มีผู้ไปยื่นหนังสือประมาณ 200 ราย ซึ่งทางจังหวัดจะนำเสนอปัญหาไปยังสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพิจารณาต่อไปทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมแยกย้ายกันกลับ
ทั้งนี้ นายลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลและคณะได้แถลงมาตรการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคา 80 บาท โดยมีหลายมาตรการ เช่น ขยายจุดจำหน่ายโครงการสลาก 80 จำหน่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ ฯลฯ จนทำให้ผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านกันหลายจังหวัด เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ฯลฯ
โดยเฉพาะกรณีกำหนดแนวทางเปิดรับสมัครให้ลงทะเบียนซื้อและจองล่วงหน้าจำนวน 200,000 รายผ่านเว็บไซต์ จากนั้นจะนำรายชื่อมาคัดกรองคุณสมบัติหากเกินจำนวนก็จะใช้วิธีสุ่มหรือ Random sort ทั้งส่วนกลางและรายจังหวัด คาดว่าจะสามารถได้รายชื่อผู้ลงทะเบียนและเริ่มทำรายการได้ตั้งแต่สลากงวดวันที่ 2 พ.ค. 2565 เป็นต้นไป