xs
xsm
sm
md
lg

หาดูยากแล้ว “บ้านคนรักษ์ตาล” แหล่งอนุรักษ์ตาลโตนด เรียนรู้อาชีพคนทำตาล ภูมิปัญญาท้องถิ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ชัยนาท
- ชวนเที่ยว “บ้านคนรักษ์ตาล” แหล่งอนุรักษ์ตาลโตนด เรียนรู้อาชีพคนทำตาล ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นับวันจะหาดูได้ยาก จังหวัดชัยนาท


วันนี้ (13 ธ.ค.) ที่หมู่ 9 ต.ห้วยกรด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ได้มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงการอนุรักษ์ตาลโตนด หรือบ้านคนรักษ์ตาล ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การอนุรักษ์ตาลโตนด และอาชีพการทำน้ำตาลโตนด และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดชัยนาท ซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเรียนรู้และสัมผัสกับวิถีชีวิตภูมิปัญญาท้องถิ่น อาชีพคนทำน้ำตาลโตนด ที่นับวันจะหาดูได้ยาก

นายวิชาญ จุ้ยแจ้ง อายุ 70 ปี ประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงการอนุรักษ์ตาลโตนด เปิดเผยว่า ในสมัยก่อนพื้นที่ ต.ห้วยกรด อ.สรรคบุรี มีต้นตาลโตนดขึ้นอยู่จำนวนมาก และชาวบ้านในพื้นที่เกือบทุกหลังคาเรือน โดยเฉพาะบ้านที่มีลูกชาย หรือมีลูกเขย จะประกอบอาชีพทำน้ำตาลโตนด ควบคู่ไปกับการทำนา ถึงขนาดที่ว่า หนุ่มคนไหนหากจะไปขอสาว ต.ห้วยกรด แต่งงาน จะต้องถูกถามว่าขึ้นต้นตาลเป็นหรือไม่ หากขึ้นต้นตาลเป็นจะยกลูกสาวให้

จนกระทั่งปี พ.ศ.2523-2525 ทางราชการได้มีการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีการตัดถนนขุดคูคลองส่งน้ำต่างๆ จึงมีการตัดโค่นต้นตาลโตนดไปเป็นจำนวนมากนับหมื่นต้น ส่งผลให้ชาวบ้านส่วนใหญ่เลิกทำอาชีพทำตาล เหลือทำเพียง 2 รายเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ.2545 ชาวบ้านโดยกลุ่มคนรักษ์ตาล ได้ร่วมกันรื้อฟื้นให้อาชีพการทำตาลกลับมาอยู่คู่กับคนห้วยกรดอีกครั้ง โดยช่วยกันเพาะปลูกต้นตาลโตนดในพื้นที่ให้เพิ่มมากขึ้น และชักชวนให้คนในพื้นที่ให้กลับมาทำอาชีพตาลอีกครั้ง เพื่อสืบสานอาชีพภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบต่อไปยังลูกหลาน ปัจจุบันมีคนหันกลับมาทำอาชีพทำตาลเพิ่มขึ้นเป็น 47 รายแล้ว

สำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวภายในบ้านคนรักษ์ตาล จะมีกิจกรรมฐานเรียนรู้ต่างๆ ประกอบด้วย ฐานเรียนรู้การเพาะปลูกต้นตาล ฐานสาธิตการขึ้นต้นตาล เพื่อเก็บน้ำตาลสด ฐานสาธิตการเคี่ยวตาล ที่ต้องเคี่ยวน้ำตาลสดนานกว่า 2 ชั่วโมง ถึงจะได้น้ำตาลโตนดห้วยกรด ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ คือ มีรสหวานละมุน และมีกลิ่นหอม สามารถนำมาใช้ปรุงอาหารโดยที่ไม่ต้องใส่เครื่องปรุงรสเพิ่มเติม ฐานสาธิตการทำขนมตาล และการทำของเล่นจากใบตาล ฐานสาธิตการออกกำลังกายจากไม้คางตาลเพื่อสุขภาพ และฐานการแสดงรำมะนา ซึ่งเป็นการแสดงพื้นบ้านเพื่อความสนุกสนานของชาวบ้านที่มาร่วมวงร้องรำทำเพลงกันหลังจากเสร็จงานแล้ว

ซึ่งกิจกรรมทุกฐาน นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ และลงมือทดลองทำได้ด้วยตนเอง จึงเป็นสีสัน และความสนุกสนานอีกรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวที่นับวันจะหาดูได้ยาก หากท่านใดต้องการไปเที่ยวชม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงการอนุรักษ์ตาลโตนด โทรศัพท์ 08-1703-1916 แนะนำให้ไปเที่ยวช่วงฤดูตาลออก คือ ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม ถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี










กำลังโหลดความคิดเห็น