มหาสารคาม - กรรมการสภาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามชี้มีบางคนปล่อยข่าวสร้างความสับสนกรณีทุจริตเบิกจ่ายค่าตอบแทน ถึงกับต้องถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการ รศ.-ผศ.มากถึง 44 คน ยันเป็นเรื่องของความถูกต้อง คุณภาพทางวิชาการต้องมาก่อน เผยการถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ 44 คนเป็นแค่ล็อตแรกจากจำนวนที่ต้องตรวจสอบทั้งสิ้น 198 คน
ศาสตราจารย์เมธี ดร.สุทธิพงศ์ หกสุวรรณ กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ผู้ทรงคุณวุฒิ เปิดเผยว่า สภามหาวิทยาลัยฯ ได้รับหนังสือสั่งการจาก ก.พ.อ. ซึ่งมีรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนาม สั่งการให้สภามหาวิทยาลัยฯ ถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ล็อตแรก จำนวน 44 คน จากจำนวนทั้งสิ้น 198 คนที่ต้องตรวจสอบ ซึ่งตรงนี้ต้องทำความเข้าใจให้ชัด เหตุผลคือกระบวนการการดำเนินการไม่ถูกต้อง ขั้นตอนการประเมินผลงานทางวิชาการเพื่อเข้าสู่ตำแหน่ง ซึ่งประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ
จากการตรวจสอบพบว่าผู้ทรงคุณวุฒิไม่ได้ประเมิน หรือวางผลการประเมินเป็นผลการประเมินเป็นเท็จ จึงตั้งสมมติฐานไว้ตั้งแต่แรกว่ากระทำการโดยทุจริต ส่วนผู้ขอที่ไม่ได้มีส่วนสมรู้ร่วมคิดก็จะเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งก็แล้วแต่กรณี จะต้องมีการตรวจสอบเป็นรายๆ ไป
ศาสตราจารย์เมธี ดร.สุทธิพงศ์กล่าวต่อว่า เรื่องที่ ก.พ.อ.ส่งมา กรรมการมหาวิทยาลัยฯ มีหน้าที่อนุมัติ แต่งตั้ง และถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการ จึงเป็นหน้าที่สภาวิทยาลัย ได้รับมาแล้วเพื่อความรอบคอบและเป็นธรรม จึงส่งกลับไปให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ (กพว.) ของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อตรวจสอบและมีความเห็นส่งผ่านสภาวิชาการของมหาวิทยาลัยฯ และ กพว.ได้มีความเห็นตรงกัน กับ ก.พ.อ. ดำเนินการถอดถอนให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน
“ขณะนี้มีบางคนไปให้ข้อมูลทำให้เกิดความสับสนว่าทำไมไปถอดถอน เพราะแค่เป็นเรื่องของการทุจริตการเบิกจ่ายค่าตอบแทน ซึ่งไม่ใช่ แต่มีการทุจริตโดยเจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้องในขั้นตอนสำคัญของการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ คือขั้นตอนการประเมินผลงานว่ามีมาตรฐานตามที่ ก.พ.อ.กำหนด และเป็นมาตรฐานในการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ” ศาสตราจารย์เมธี ดร.สุทธิพงศ์กล่าว และว่า
ส่วนเรื่องการเบิกจ่ายเป็นเรื่องทางวิชาการที่ดำเนินการตรวจสอบพบว่ามีการทุจริตโดยการปลอมแปลงเอกสารการประเมิน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง มีความจำเป็นต้องถอดถอน ซึ่งเรื่องดังกล่าวรู้กันมาเป็นสิบปี แต่ด้วยเกี่ยวข้องกับคนหลายคน เรื่องนี้เคยเข้าสภามาตั้งแต่สมัยตนยังไม่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ
เรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวข้องกับมาตรฐานด้านวิชาการ เกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน อีกประเด็น เมื่อเราตั้งสมมติฐานว่าผู้ขอที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ถือเป็นผู้สุจริต เพราะฉะนั้นจะมีกระบวนการเยียวยา ตรงนี้มหาวิทยาลัยฯ จะต้องทำข้อตกลง ต้องขอความเห็นจากกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไรภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย ที่สำคัญคือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถอดถอนสามารถใช้สิทธิ์ในการร้องทุกข์ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือจะดำเนินการทางศาลปกครองได้อีก แต่หากไปร้องศาลปกครองมหาวิทยาลัยฯ จะดำเนินการเยียวยาไม่ได้ เพราะต้องรอคำตัดสินของศาลปกครองก่อน
ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน มหาวิทยาลัยฯ ต้องดำเนินการในทางละเมิด จะมีเป็นกรณีไป ซึ่งกรณีที่ชัดเจนกรณีหนึ่งคือ การลอกผลงานทางวิชาการ ถือเป็นความผิดชัดเจน
หากจะถามว่าการที่ตนออกมาเปิดเผยเรื่องดังกล่าวถือเป็นการทุบหม้อข้าวตนเองหรือไม่ ตรงนี้ขอตอบว่าไม่ใช่เรื่องทุบหม้อข้าวตนเอง เพราะสังคมไทยคิดเช่นนั้น เรื่องของการปฏิบัติราชการ เรื่องความถูกต้อง เรื่องคุณภาพทางวิชาการถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นคณะกรรมการชุดตนมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ที่ดีที่สุด ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย อย่างเช่นผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริต มีความจำเป็นที่จะต้องดูแล ไม่คิดว่าเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเอง สังคมไทยคนที่มีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายก็จะลูบหน้าปะจมูก มีความเห็นอกเห็นใจกัน เป็นเรื่องที่ต้องทำให้ถูกต้อง เป็นสำนึกที่ต้องทำ
ซึ่ง 44 คนที่ประกาศออกไปยังไม่ถือว่าผิด เพียงแต่มีประเด็นปัญหาที่มหาวิทยาลัยฯ ต้องดำเนินการ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับผู้บริหารหลักสูตร อาจารย์ผู้สอน ต้องไปดูผลทางด้านว่าด้วยการปกครอง ต้องดำเนินการแก้ไขเรื่องมาตรฐานหลักสูตรเป็นเรื่องสำคัญ ต้องดำเนินการให้ได้เกณฑ์มาตรฐาน เรื่องนี้ต้องนำความจริงออกมา ใครมีส่วนเกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ
เรื่องนี้กระทบผลประโยชน์ของคน บางคนไม่เข้าใจหาว่าไปกลั่นแกล้ง ซึ่งเรื่องนี้ ทาง กพอ.ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบในระดับกระทรวง และให้คณะกรรมการตรวจสอบขั้นตอน ก.พ.อ.มีข้อมูลอยู่แล้ว มีรายชื่อที่ ก.พ.อ.กำหนดมา ซึ่งขณะนี้มีรายชื่อที่จะต้องตรวจสอบทั้งสิ้น 198 คน ในจำนวนนี้รวม 44 คนที่มีคำสั่งรวมเข้าไปแล้ว