บุรีรัมย์ - นทท.แห่ขึ้นไปสัมผัสลมหนาว ชมความงดงามปราสาทพนมรุ้งโบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์อายุหลายพันปีที่บุรีรัมย์ช่วงหยุดยาวคึกคักวันละกว่า 2 พันคน เพิ่มขึ้นจากช่วงปกติเท่าตัว ขณะอุทยานฯ ชวนรำลึกครบ 33 ปี ทวงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์คืนพนมรุ้ง
วันนี้ (6 ธ.ค.) นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้พาครอบครัวเดินทางขึ้นไปสัมผัสอากาศหนาว พร้อมชมความงดงามของปราสาทพนมรุ้ง บนอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางอารยธรรมขอมโบราณอายุหลายพันปีกันอย่างคึกคักช่วงหยุดติดต่อกันหลายวัน ประกอบกับเป็นช่วงสภาพอากาศหนาวเย็นและปราสาทพนมรุ้งตั้งอยู่บนยอดเขาสูง หากใครเดินทางขึ้นมาเที่ยวช่วงนี้จะได้สัมผัสกับลมหนาว และทัศนียภาพที่สวยงาม
โดยช่วงนี้เป็นเพียงต้นฤดูก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นมาสัมผัสลมหนาว และชมความงดงามของปราสาทพนมรุ้งแล้ววันละกว่า 2,000 คน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติเท่าตัว และคาดว่าหากอากาศหนาวเย็นมากขึ้นก็จะมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาเที่ยวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ขณะที่ทางอุทยานฯ ได้ตรวจคัดกรองเข้มนักท่องเที่ยวที่เดินทางขึ้นไปเที่ยวชมปราสาทพนมรุ้งตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข
นายภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังจากสภาพอากาศหนาวเย็นลง ประกอบกับทางจังหวัดได้เปิดเมืองท่องเที่ยวแล้ว ช่วงนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นมาสัมผัสอากาศหนาวและชมความงดงามปราสาทพนมรุ้งคึกคักมากขึ้นเฉลี่ยวันละกว่า 2,000 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงปกติเท่าตัว และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาเที่ยวชมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในวันพรุ่งนี้ 7 ธ.ค. 2564 ทางอุทยานฯ จะมีการจัดบรรยายพิเศษเนื่องในโอกาสครบ “๓๓ ปี ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์คืนถิ่นพนมรุ้ง” ในหัวข้อ “รำลึกอดีตเมื่อวันวาน ทับหลัง ตำนาน ชุมชนโบราณ พนมรุ้ง” วิทยากรโดย รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งแต่เวลา 09.00-11.00 น. ณ ศาลาวนัมรุง อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในการติดตามทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้งที่เคยถูกลับลอบนำออกไปยังต่างประเทศ กลับคืนมาสู่ประเทศไทยและได้นำกลับไปติดตั้ง ณ ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2531 อันแสดงถึงการรวมพลังของคนไทย ด้วยความรัก หวงแหน และภาคภูมิใจในมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ
ท่านใดที่สนใจสามารถรับชมการบรรยายพิเศษผ่านการถ่ายทอดสด FB Live เพจ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์ Phanom Rung Historical Park หรือลงทะเบียนรับฟังในห้องประชุม รับจำนวนจำกัดเพียง 40 คน ตามลิงก์ที่แนบมานี้ https://forms.gle/GxUJYb6TaJQXjsDC7