ศูนย์ข่าวศรีราชา –กรมโรงงานจัดประชุมระดมความเห็นหน่วยงานใน จ.ชลบุรี รับฟังข้อจำกัดการขับเคลื่อนโครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศก่อนยกระดับสู่เมืองน่าอยู่ เดินหน้ารวบรวมปัญหาและข้อจำกัดในพื้นที่เป้าหมาย 15 จังหวัด ก่อนกำหนดเป็นแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน
วันนี้ ( 25 พ.ย.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสหากรรม ได้จัดประชุมระดมความเห็นหน่วยงานเกี่ยวข้องใน จ.ชลบุรี เพื่อขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ Eco-Town : Up and Running ด้วยแนวทางการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการผลิตที่สะอาด อุตสาหกรรมแบบพึ่งพา ณ โรงแรมโอ๊ควูด โฮเตล แอนด์ เรสซิเดนซ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม
และมี นายณัฐพงษ์ จุลาเกตุโพธิชัย ผู้อำนายการกองพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมเผยว่าการจัดประชุมระดมความคิดเห็นดังกล่าวเพื่อให้ได้รับทราบถึงข้อจำกัดในการขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในจังหวัดเป้าหมายโครงการรวม 15 จังหวัด 18 พื้นที่
โดยเฉพาะใเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้รู้ว่าแต่ละพื้นที่มีปัญหาและอุปสรรคอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดประชุมสัมมนาไปแล้วใน จ.สงขลา ,ขอนแก่น และชลบุรี ส่วนในวันพรุ่งนี้จะจัดสัมมนาระดมความเห็นหน่วยงานเกี่ยวข้องใน จ.ระยอง ร่วมทั้งเขตประกอบการอุตสหากรรม ไออาร์พีซี
“ การรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่จะทำให้ทราบพื้นฐานและการจัดการบนปัญหาเรื่องทรัพยากรที่แตกต่างกันของแต่ละจังหวัดเพื่อให้ได้ความชัดเจนจากพื้นที่ต่างๆ แบบตรงไปตรงมาที่สุด และหลังจากนี้ยังจะจัดการรับฟังความเห็นผ่านระบบออนไลน์อีก 8 ครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน”
นายณัฐพงษ์ ยังเผยอีกว่าปัจจุบันหน่วยงานได้มีความพยายามที่จะดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชน และนโยบายของรัฐบาล ซึ่งโครงการขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ผ่านองค์การความร่วมมือแห่งสหประชาชาติ เพื่อสนับสนุนให้พื้นที่เป้าหมายเกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
ภายใต้ตัวชี้วัดแบบบันได 5 ขั้นคือ ขั้นแรกการสร้างความร่วมมือ ขั้นที่ 2 การส่งเสริมองค์ความรู้ ขั้นที่ 3 การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นบันไดขั้นต้นของกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะสามารถจัดการเรื่องของการใช้ทรัพยากร ทั้งน้ำ พลังงาน หรือแม้แต่เรื่องของการจัดการวัสดุเหลือใช้ต่างๆ ให้เกิดประโยชน์
ขั้นที่ 4 การนำวัสดุเหลือใช้จากอีกที่หนึ่งไปเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานอีกที่หนึ่งหรือชุมชน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนต่างๆ ให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น
และระดับที่ 5 คือเมืองน่าอยู่ ที่จะต้องมีการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรม และสิ่งแวดล้อมที่ลดลง
โดยปัจจุบันจังหวัดที่อยู่ในเป้าหมายโครงการที่มีทั้ง ชลบุรี, ระยอง ,ฉะเชิงเทรา ,สระบุรี นครราชสีมา, ขอนแก่น ,สุราษฏรธานี สงขลา ฯลฯ ล้วนมีการพัฒนาโครงการในระดับที่ 3
ขณะที่การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จะต้องเกิดจากการบูรณาการร่วมกันในหลายหน่วยงาน ซึ่งเป้าหมายของกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม คือการยกระดับโรงงานสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงงาน และภาคอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับชุมชนที่ยั่งยืนในอนาคต
“ ปัจจุบันความตื่นตัวของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มีมากเห็นได้จากการเร่งยกระดับโรงงานและความสนใจในการเข้าร่วมโครงการมีสูงเกินกว่างบประมาณที่ได้รับจัดสรร อีกทั้งกิจกรรม CSR ยังช่วยให้ชุมชนและดรงงานอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขและยั่งยืน”
นายณัฐพงษ์ ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะปัญหาก๊าซเรือนกระจกของไทยประเทศไทย มีกรอบเวลาดำเนินการที่ชัดเจนโดยมีเป้าหมายในอีก 5ปีข้างหน้าที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1.3 ล้านตัน เนื่องจากหลายหน่วยงานได้มีความพยายามที่จะสนับสนุนให้โรงงานต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ลดน้อยลง