xs
xsm
sm
md
lg

ส่องโรงตีดาบ-ศาสตราโบราณ ปั้นแหล่งท่องเที่ยวใหม่คู่พิษณุโลก-เมืองนักรบ หลังโควิดคลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิษณุโลก - ผู้ว่าฯ หนุนตีดาบ-ศาสตราวุธโบราณ-ภูมิปัญญาท้องถิ่น ดันเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเพิ่ม หวังสร้างโอกาสและสร้างรายได้แก่ชุมชนหลังโควิดคลี่คลาย


นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นางสุวิมล เกตุศรีบุรินท์ วัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก นางปริษา ปานพรหม ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพิษณุโลก สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก เดินทางไปที่โรงตีดาบตาไก่ สองแคว เลขที่ 129/2 ม.5 บ้านปากห้วย ต.ดอนทอง จ.พิษณุโลก ต้นสัปดาห์นี้ เพื่อหาข้อมูลการทำอาวุธไทยโบราณ เตรียมผลักดันพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดพิษณุโลก

ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกกล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 เริ่มทรงตัว จึงต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้ถึงชุมชนรากหญ้าและกระจายรายได้ให้เงินสะพัดสู่จังหวัด ซึ่งโรงตีดาบตาไก่ สองแคว เป็นทั้งงานศิลปะ อาชีพ สอดคล้องกับจังหวัดพิษณุโลกของเราที่เป็นเมืองนักรบ เป็นเมืองพระนเรศวรมหาราชด้วย มีทั้งศิลปวัฒนธรรมอาวุธโบราณ การหลอมโลหะ ขึ้นรูปโลหะ และการตีอาวุธไทยสมัยโบราณ ลงรักปิดทองฝักดาบ สามารถพัฒนาเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวต่อยอดหลักเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย

นายชัยชีวัน ณะอุโมงค์ หรือโอ้ เจ้าของโรงตีดาบตาไก่ สองแคว วัย 40 ปี เปิดเผยว่า ตนเรียนจบ ม.3 เคยทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนมาก่อน แต่ใจรักศิลปะแขนงดาบ อาวุธ ศาสตราวุธโบราณมานานและศึกษาหาความรู้เรื่อยมา อยู่กลุ่มคนรักมีด สำนักดาบเพชรพุทไธสวรรย์และชมรมอาวุธไทยโบราณ ทั้งดาบ หอก ง้าว สกุลช่างอยุธยา ดาบล้านช้าง หรือแม้แต่ดาบซามูไร จากนั้นก็ศึกษาวิธีการตีดาบ การเลือกเหล็กแต่ละประเภทที่จะใช้ตีจนสำเร็จ

กระทั่งปี 2554 ได้ตีดาบใบข้าว และสามารถขายให้กลุ่มคนรักดาบในราคา 1,200 บาท จากนั้นก็เริ่มฝึกฝีมือเรื่อยมาและเริ่มมีออเดอร์ลูกค้าสั่งเข้ามาหลากหลายประเภท จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำเมื่อปี 2554 ยึดอาชีพตีดาบหารายได้เลี้ยงครอบครัว โดยมีภรรยาช่วยในเรื่องของการถักเชือกปลอกด้ามโบราณ และพ่อของภรรยาช่วยในเรื่องของงานไม้ ทั้งทำปลอกดาบ ปลอกอาวุธจากไม้ ด้ามมีดดาบไม้ต่างๆ นับแต่นั้นงานตีดาบจึงกลายเป็นธุรกิจของครอบครัว สำหรับใครที่สนใจจะเข้ามาศึกษาเรียนรู้ หรือดูงานการตีดาบตนก็ยินดี






กำลังโหลดความคิดเห็น