ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ชาวโคราชป่วยจิตพุ่งอันดับ 1 ภาคอีสาน ทั้งซึมเศร้า ภาวะเครียดสูง เสี่ยงฆ่าตัวตายและภาวะหมดไฟ พบมากช่วงอายุ 20-29 ปี เหตุโควิดระบาดทำพิษ ชี้ 3 อำเภอพบผู้ป่วยมาก อ.เมือง ปากช่องและสีคิ้ว แนะใช้หลัก 4 สร้าง 2 ใช้ แก้ปัญหา
วันนี้ ( 3 พ.ย. ) ที่ ห้องโคราชฮอลล์ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา นครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายชูศักดิ์ ขุนเกาะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติระหว่างวันที่ 1-7 พฤศจิกายน 2564 "สุขภาพจิตไทยวัดใจไปพร้อมกัน" www.วัดใจ.com โดยมี พญ.สุวรรณี เรืองเดช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ และ นางและนางศิริลักษณ์ แก้วเกียรติพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 ให้การต้อนรับพร้อมกล่าวรายงาน
พญ.สุวรรณี เรืองเดช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ระบาดของโรคอุบัติใหม่ โควิด-19 ทำให้การทำงาน การเรียน และการใช้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน หลายคนประสบกับปัญหาธุรกิจ ตกงาน และอื่นๆ อีกมากมาย สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของประชาชนไทย โดยอัตราการฆ่าตัวตาย จากเดิม 6.64 ต่อแสนประซากร ในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 7.66 ต่อแสนประชากร ในปี 2563 และในจังหวัดนครราชสีมา เพิ่มขึ้นจาก 7.66 ต่อแสนประชากร เป็น 8.28 ต่อแสนประชากร
ช่วงปีที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิต ได้ดำเนินการวัดสุขภาพใจของประชาชนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป ผ่าน แอปพลิเคชั่น Mental Health Check In พบภาวะเสี่ยงด้านสุขภาพจิตสูงสุด ในเขตสุขภาพที่ 13 (กรุงเทพมหานคร) รองลงมาได้แก่ เขตสุขภาพที่ 4 และ เขตสุขภาพที่ 6 ตามลำดับ
พญ.สุวรรณี กล่าวต่อว่า สำหรับสุขภาพจิตประชาชนจังหวัดนครราชสีมา จากการประเมินตนเองผ่านโปรแกรม Mental Health Check in หรือจากการ “วัดใจ” พบซึมเศร้าร้อยละ 37.89 ภาวะเครียดสูงร้อยละ 32.27 เสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 22.88 และภาวะหมดไฟร้อยละ 7.52 โดยพบสูงในช่วงอายุ 20-29 ปี ในกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิตเดิม กลุ่มติดสุรา ยาเสพติด กลุ่มตกงานรายได้น้อย ธุรกิจประสบปัญหา ใน อ. เมืองนครราชสีมา อ. ปากช่อง อ.สีคิ้ว โดยจังหวัดนครราชสีมาถือเป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตมากเป็นอันดับ 1 ของภาคอีสาน ประกอบกับจำนวนประชากรที่มีมากเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอยู่แล้ว
ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้รณรงค์ผ่านสื่อมวลชน รวมถึงช่องทางอื่นที่หลากหลาย ในการดูแลสุขภาพจิตประชาชนไทย ด้วยหลักการ 4 สร้าง 2 ใช้ โดยสร้างความปลอดภัย สร้างความสงบ สร้างความหวัง สร้างการดูแล โดยใช้ศักยภาพและใช้ความสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชน สถานประกอบการ โรงเรียนมีความเข้มแข็งทางจิตใจ มีพลังใจที่จะต่อสู้กับปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้น หลายคนล้ม หลายคนลุก หลายคนจบชีวิต หลายคนสร้างชีวิต สามารถพลิก วิกฤตให้เป็นโอกาส เห็นได้ว่า “วิธีคิดและจัดการกับปัญหา” รวมถึง “พลังใจ” ของเรานั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ เรา “อยู่กับปัญหา” หรือ “ก้าวข้ามปัญหา” ได้อย่างมีความสุข
โดยโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์และศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 ขอเชิญชวนมาร่วม “วัดใจไปพร้อมกัน” กลับนิทรรศการทางด้านสุขภาพจิต กิจกรรม “วัดใจ” การให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิต กิจกรรมเสริมสร้างพร้อมรับของที่ระลึกเพื่อการดูแลจิตใจในช่วง COVID-19 ในงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ วันนี้ที่ห้องโคราชฮอลล์ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา