xs
xsm
sm
md
lg

ผู้พิทักษ์ป่าลาดตระเวนพบโค่นประดู่-บ้านอำพราง คาป่ารอยต่อน้ำปาด-ภูสอยดาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุตรดิตถ์/พิษณุโลก - ตามรอยผู้พิทักษ์ป่าลาดตระเวนชายแดนไทย-สปป.ลาว 3 วัน 2 คืน พบไม้ประดู่ล้มคาตอ-ไม้แดงแปรรูปสร้างบ้านอำพราง คาป่ารอยต่อ อช.น้ำปาด-ภูสอยดาว และเส้นทางชักลากไม้ไม่มีการใช้งานติดพรมแดน


หลังจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) 11 สนธิกำลังเจ้าหน้าที่สายตรวจ, จนท.พิทักษ์ป่า อช.ภูสอยดาว ตำรวจ.ตชด.ที่ 31 จนท.อส. ทั้งสิ้น 70 นาย ออกลาดตระเวนพร้อมดำรงชีพกลางป่าในพื้นที่เสี่ยงเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้มีค่าบริเวณชายแดนไทย-ลาว เขตอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูสันเขียว อ.บ้านโคก อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ และ จ.พิษณุโลก

โดยได้แบ่งกำลังพลออกเป็น 3 ชุด คือ ชุดที่ 1 เดินลาดตระเวนจากหลักปักปันเขตแดนที่ 26 ขึ้นไปทางทิศเหนือ พบร่องรอยเส้นทางชักลากไม้ไม่มีการใช้งานมานาน หญ้าเริ่มรกปกคลุม, ชุดที่ 2 เดินลาดตระเวนจากหลักปักปันเขตแดนที่ 26 ลงไปทางทิศใต้ พบร่องรอยเส้นทางชักลากไม้ไม่มีการใช้งานมานาน และพบไม้ประดู่ท่อน จำนวน 9 ท่อน ล่าสุด อช.ภูสอยดาวดำเนินการตรวจยึดดำเนินคดีต่อไป

ชุดที่ 3 ร่วมกับด่านไซเตส (ภูดู่) ช่องผ่อนปรนชายแดน (ช่องมหาราช) ร่วมปฏิบัติกับ จนท.ภูสันเขียว ตรวจสอบแนวรอยต่อพื้นที่ อช.ภูสอยดาว พบร่องรอยการตัด-แปรรูปไม้ และไม้แปรรูปจำนวนหนึ่ง บริเวณป่าบ้านส่องสี ม.7 ต.ห้วยมุ่น อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด ติดต่อกับเขต อช.ภูสอยดาว ลักษณะอำพรางเตรียมจะสร้างบ้าน มีการปูเป็นไม้พื้น แต่ยังไม่มีการตอกตะปู จึงได้ประสานงาน จนท.ป่าไม้ หน่วยฯ อต.6 (บ้านม่วง) กรมป่าไม้ ร่วมกันตรวจยึดไม้กระยาเลยแปรรูป (ไม้แดง) จำนวน 36 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 0.52 ลบ.ม.

เบื้องต้นพบว่าผู้ครอบครองคือ นาย ด. จึงได้ทำบันทึกเรื่องราว-ยึดไม้ของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเด่นเหล็ก ตามบันทึกประจำวันข้อ 2 คดีที่ 48/64 ยึดทรัพย์ที่ 22/64 โดยมอบให้หน่วยฯ อต.6 (บ้านม่วง) ดำเนินคดี

นายโกเมศ พุทธสอน ผอ.สบอ.11 เปิดเผยว่า ผลการปฏิบัติพบมีการตัดไม้ประดู่ท่อนเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ถือว่าเป็นการดี ทรัพยากรป่าไม้ไม่ได้ถูกทำลายลงไป แต่ก็ได้สั่งการให้นายบุญชู ไกรคง ผอ.ส่วนอนุรักษ์และป้องกันฯ และ จนท.อุทยานแห่งชาติ เข้าตรวจพื้นที่อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการปกป้องไม้มีค่าไว้ให้คนรุ่นหลังต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น