เชียงใหม่ - คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ออกสารเตือนสถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เชียงใหม่พุ่งทะยานเข้าสู่ภาวะวิกฤตแล้ว ผู้ป่วยอาการหนักจ่อล้น ICU ย้ำทุกคนเคร่งครัดป้องกันตัวลดการติดเชื้อเพิ่ม โดยเฉพาะช่วงที่จะเปิดการท่องเที่ยว และเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีน ลดความรุนแรงหากติดเชื้อ ด้านคณะกรรมการโรคติดต่อเผยติดเชื้อรายวันเพิ่ม 403 ราย เตียงผู้ป่วยสีแดงเต็ม 100% ส่วนสีเหลืองเหลือ 3% และสีเขียวเหลือ 15%
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า วันนี้ (28 ต.ค. 64) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยแพร่สารจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงนามศาสตราจารย์ (ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ) นายแพทย์ บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ข้อความระบุว่า "ในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ในจังหวัดเชียงใหม่มีความรุนแรงมากขึ้น พบว่ามีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 300 ราย ถึง 400 ราย และพบ Cluster ใหม่ทุกวัน ทั้งนี้ ตามสถิติทางการแพทย์ผู้ป่วยที่พบใหม่จะมีประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยทั้งหมดจะมีอาการปานกลางถึงอาการรุนแรง โดยในส่วนนี้มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง (ร้อยละ 5) ต้องได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก ICU
แม้ขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้ทำระบบ Community Isolation รวมถึงโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เริ่มทำระบบ Home Isolation แต่ระบบสาธารณสุขของจังหวัดเชียงใหม่มีเพียง 2 โรงพยาบาลที่สามารถรับผู้ป่วยหนักสีแดง คือ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และโรงพยาบาลนครพิงค์ จากสถานการณ์ในช่วงตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากกว่า 6,000 ราย ทำให้มีผู้ป่วยหนักใน ICU ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ทั้ง ICU ตึกนิมมานเหมินทร์ ตึก ICU โรงพยาบาลประสาท และ Cohort Ward โรงพยาบาลสงฆ์แห่งโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบเต็มศักยภาพ
บุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดเชียงใหม่ทุกท่าน รวมถึงบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้เป็นอย่างยิ่งและกำลังทำงานกันอย่างเต็มศักยภาพ แต่ขณะนี้จากข้อมูลทางการแพทย์ การลดจำนวนผู้ป่วยใหม่เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และรีบด่วน ขอให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ทราบข้อมูล และตระหนักถึงสภาวะของโรค Covid-19 ในเชียงใหม่ว่า การระบาดของโรค Covid-19 ขณะนี้มีความรุนแรงระดับสูง และการแพร่กระจายการติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดในผู้ที่ไม่มีอาการ และเกิดในครอบครัวและชุมชนเป็นหลัก ดังนั้น การปฏิบัติตัวต่างๆที่ทางหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศได้แนะนำมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช่วงนี้ และในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่จะมีการเปิดรับการท่องเที่ยว ข้อมูลทางการแพทย์ที่สำคัญคือ ผู้ที่ได้รับวัคซีนจะมีอัตราการติดเชื้อ และหากติดเชื้อแล้วจะมีความรุนแรงน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนอย่างมาก แต่ขณะนี้อัตราการฉีดวัคซีนของเชียงใหม่มีเพียงร้อยละ 60 เท่านั้น
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอเชิญชวนทุกท่านมารับวัคซีนให้ได้มากที่สุด มีรายงานวิจัยทางการแพทย์พบว่าวัคซีนสูตรไขว้ตามนโยบายของประเทศมีประสิทธิภาพสูง รวมถึงชาวเชียงใหม่หวังว่าจะได้การจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติมมากขึ้นเหมือนพื้นที่อื่นเพื่อเพิ่มร้อยละของผู้รับการฉีดวัคซีน โดยจะมีผลให้ผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วยอาการหนักลดลง ซึ่งจะทำให้จังหวัดเชียงใหม่ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้
สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณข้อแนะนำและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วย Covid-19 ในกรุงเทพมหานครช่วงที่ผ่านมาจากผู้บริหารโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร พร้อมมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงชุด Home Isolation ให้แก่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ขอให้มั่นใจว่าบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมดูแลประชาชนชาวเชียงใหม่อย่างเต็มศักยภาพ แล้วเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน"
ขณะที่วันเดียวกันนี้ กรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันนี้ว่า วันนี้จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 403 ราย อยู่ระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาลทุกประเภท รวมทั้ง community isolation และ home isolation ทั้งสิ้น 3,813 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยอาการน้อยหรือสีเขียว 3,144 ราย เป็นร้อยละ 85 ของจำนวนเตียงที่รองรับได้ 3,174 เตียง, ผู้ป่วยอาการปานกลางหรือสีเหลือง จำนวน 577 ราย คิดเป็นร้อยละ 97 ของจำนวนเตียงที่รองรับได้ 595 เตียง และผู้ป่วยอาการหนักหรือสีแดง จำนวน 92 ราย ซึ่งเตียงเต็มจำนวนที่รองรับได้แล้ว