ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - มันต๊าซมาก เปิดประติมากรรม “ความอบอุ่น” แห่งเมืองพลับพลา อ.ห้วยแถลง โคราช ผลงานศิลปะกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อสร้างเศรษฐกิจยั่งยืนให้แก่ชุมชน ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้กับประเทศ “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เมืองพลับพลา อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา ได้จัดการอบรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ด้วยศิลปะ เพื่อชุมชนภายใต้ “โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้กับประเทศ” มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ของ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ศ.ดร.สามารถ จับโจร พร้อมด้วย ผศ.ดร.สายสุนีย์ จับโจร อาจารย์อาวุธ คันศร อาจารย์จรงค์ เจริญสุข และคณะนักศึกษาจากหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต ทัศนศิลป์ สาขา ทัศนศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
เนื้อหาของหลักสูตรที่ใช้ในการอบรม เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนให้กับชุมชน ด้วยผลงานศิลปะ (ประติมากรรม) ซึ่งเป็นการรวบรวมกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณีเพื่อสร้างความเข้าใจและยกระดับการจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยประชาชน ท้องถิ่นมีส่วนร่วม เป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงานแก่ชุมชนอย่างแท้จริง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่และวัสดุเหลือใช้ นำมาสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่า มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความงดงามสะท้อนแนวความคิดด้านการออกแบบรูปทรง โดยเน้นความเป็นสัจจะของตัววัสดุ เป็นศูนย์รวมหล่อหลอมด้านจิตใจ มีความหมายสำหรับชุมชนอย่างแท้จริง กลายเป็นผลงานประติมากรรมชื่อว่า “ความอบอุ่น”
สำหรับผลงานประติมากรรม “ความอบอุ่น” มีขนาดความสูง 8 เมตร กว้าง 3 เมตร ยาว 6 เมตร เป็นประติมากรรมจากวัสดุเหลือใช้ เทคนิคขึ้นโครงเหล็กประกอบไม้ไผ่ โดยได้แนวความคิดมาจากรูปทรงโครงสร้างของครอบครัว “นกคุ่ม” ซึ่งตามคติความเชื่อ “นกคุ่ม” หรือ “นกคุ้ม” เป็นสิ่งดีงามเป็นมงคล โดยใช้ภาษาการสร้างสรรค์ด้านประติมากรรม เป็นตัวชี้นำเรื่องราว แสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของความผูกพันระหว่างครอบครัวแม่กับลูก ความรัก ความผูกพันและการช่วยเหลือเกื้อกูล โดยใช้ไม้ไผ่เหลาให้ได้ขนาดเป็นวัสดุในการสร้างสรรค์ ไม้ไผ่เป็นเสมือนสายใยแห่งความผูกพันของชุมชน มีความกลมเกลียวเป็นปึกแผ่นแทนค่าด้วยวัสดุที่มีความหมายเป็นการจุดประกายให้เห็นถึงวิถีวัฒนธรรมความเป็นมาของชุมชนที่มีความเกี่ยวพันกับไม้ไผ่มาอย่างยาวนาน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานด้านประติมากรรมให้มีความโดดเด่น และมีสุนทรียภาพได้อย่างลงตัว