จันทบุรี - "จุรินทร์" ประกาศ 17 มาตรการดูแลผลไม้ปี 65 ปลื้มส่งออกผลไม้ช่วง 8 เดือนแรกปี 64 สร้างรายได้เข้าประเทศถึง 169,000 ล้านบาท ขณะที่ทุเรียนขายดีสุด โดยทุเรียนเมืองจันท์มีมูลค่าส่งออกถึง 45,000 ล้าน
วันนี้ (7 ต.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.จันทบุรี ตามโครงการ "จุรินทร์ออนทัวร์ภาคตะวันออก" เพื่อประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสรุปผลการแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ในปี 2564 พร้อมเตรียมมาตรการดูแลผลไม้ที่จะออกสู่ตลาดในไตรมาสแรกและไตรมาส 2 ของปีในปี 2565
และยังได้มีการกำหนดมาตรการล่วงหน้าก่อน 6 เดือน และกำหนดมาตรการบริหารจัดการผลไม้ล่วงหน้าทั้งระบบ โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม ที่โครงการศูนย์บริหารจัดการ มหานครผลไม้ อ.นายายอาม จ.จันทบุรี
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เตรียมมาตรการเชิงรุกในการรองรับผลไม้ที่จะออกสู่ตลาดในปี 2565 รวม 17 มาตรการ ประกอบด้วย
1.มาตรการเร่งรัดตรวจและรับรอง GAP ซึ่งมีเป้าหมายในปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 120,000 แปลง
2.มาตรการช่วยผู้ประกอบการหรือเกษตรกรหรือล้งกระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต กิโลกรัมละ 3 บาท ปริมาณ 80,000 ตัน
3.มาตรการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ส่งออกโดยจะช่วยเหลือดอกเบี้ยร้อยละ 3 และช่วยผู้ส่งออกที่ส่งออกผลไม้อีกกิโลกรัมละ 5 บาท ปริมาณ 60,000 ตัน
4.กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนให้มีการใช้พระราชบัญญัติเกษตรพันธสัญญา การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้านผลไม้ โดยจะสนับสนุนให้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 30,000 ตัน
5.มาตรการส่งเสริมการบริโภคผลไม้ในประเทศ ประสานงานกับสายการบินต่างๆ เปิดโอกาสให้โหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบินในประเทศไทยฟรี 25 กิโลกรัม ตั้งแต่เดือน เม.ย.2565 เป็นต้นไป
6.มาตรการช่วยสนับสนุนกล่องพร้อมค่าจัดส่งผลไม้ที่ขายตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ไปยังผู้บริโภคโดยตรงโดยสนับสนุนกล่องมากขึ้นกว่าปี 2564 ที่สนับสนุน 200,000 กล่อง ปี 2565 จะสนับสนุนถึง 300,000 กล่อง
7.ในช่วงที่ผลไม้ออกเยอะกระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนให้มีรถเร่ รถโมบายไปรับซื้อผลไม้และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรง โดยปี 2557 จะสนับสนุนที่ 15,000 ตัน
8.ประสานงานกับห้างท้องถิ่นและปั๊มน้ำมันต่างๆ เปิดพื้นที่ระบายผลไม้ให้เกษตรกรโดยเพิ่มปริมาณจากปี 2564 ที่ช่วย 1,500 ตัน ปี 2565 จะเพิ่มเป็น 5,000 ตัน
9.จะทำเซลส์โปรโมชันในการส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศซึ่งใช้ชื่อโครงการ Thai Fruits Golden Months ดำเนินการในตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ 12 เมือง เช่นเดียวกับปี 2564 ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ผลดีมาก
10.จะจัดการเจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ทางธุรกิจในระบบออนไลน์หรือที่เรียกว่า OBM มุ่งเน้นตลาดใหม่ เช่น อินเดีย และรัสเซียเป็นต้น
11.จะส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศในรูปแบบ THAIFEX - Anuga Asia
จัดงานส่งเสริมการบริโภคผลไม้ระดับนานาชาติ ช่วงเดือนพฤษภาคม 65 ที่ อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี
12.เร่งจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็น 5 ภาษา เพื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทย
13.จะจัดให้มีการอบรมให้ความรู้เกษตรกรกลุ่มเกษตรกรในเรื่องของการค้าออนไลน์เพื่อขายตรงให้ผู้บริโภคและจะเพิ่มเติมหลักสูตรการส่งออกเบื้องต้นให้ด้วย ตั้งเป้าอบรมเกษตรกรให้ได้อย่างน้อย 1,000 ราย
14.มาตรการขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องในการเคลื่อนย้ายแรงงาน เพื่อให้สามารถดำเนินการเก็บผลไม้และส่งเสริมการขายผลไม้ได้ต่อไป
15.ในบางช่วงที่ขาดแคลนแรงงาน ให้ กอ.รมน.ส่งกำลังพลเข้ามาช่วยเก็บเกี่ยวและขนย้ายผลไม้
16.กระทรวงพาณิชย์จะสั่งการให้ทีมเซลส์แมนจังหวัดและทีมเซลส์แมนประเทศประสานงานกันช่วยระบายผลไม้ของเกษตรกรทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศต่อไป ให้มีความเข้มข้นขึ้น
และ 17.กระทรวงพาณิชย์และจังหวัดจะบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายผลไม้ที่มีคุณภาพได้ราคาดีและไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ
ปลื้มผลผลิตผลไม้ไทยปี 64 สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศกว่า 1.6 แสนล้านบาท
ขณะที่ภาพรวมผลผลิตผลไม้ไทยในปี 2564 มีปริมาณ 3,500,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 8% ซึ่งการส่งออกผลไม้ในช่วง 8 เดือนของปี 2564 ( ม.ค.-ส.ค.) สามารถส่งออกผลไม้ไปยังต่างประเทศได้ 169,000 ล้านบาท (+46%) เฉพาะทุเรียนส่งออกได้ 98,360 ล้านบาท (+77%) มังคุด 16,703 ล้านบาท (+24%) ลำไย 10,392 ล้านบาท (+50%)
โดยคาดว่าการส่งออกทุเรียนจันทบุรีในปีนี้ จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 45,000 ล้านบาท