xs
xsm
sm
md
lg

อุทยานฯ เปลี่ยนพฤติกรรมชาวบ้าน ลดการล่าสัตว์ป่าด้วยการสร้างอาชีพใหม่ ในกิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - หัวหน้าอุทยานแห่งเขาแหลมเผยสถานการณ์การล่าสัตว์ป่าในพื้นที่ลดลง ผลจากการทำงานเชิงรุกทั้งการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (smart patrol) และการสร้างงาน สร้างอาชีพให้ชาวบ้านที่มีพฤติกรรมเป็นพรานป่า มาร่วมงานกับ อุทยาน ทั้งการเป็นลูกจ้าง และลูกหาบในกิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานฯ

อุทยานแห่งชาติเขาแหลม มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอสังขละบุรี และอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี มีสภาพป่าที่สมบูรณ์โดยรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลม ประกอบด้วยสัตว์ป่านานาชนิด สถานที่สวยงามเหมาะแก่การท่องเที่ยวศึกษาหาความรู้ และเป็นอุทยานแห่งชาติ 1 ใน 5 แห่งของโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ เพื่อการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2530 มีเนื้อที่ประมาณ 1,497 ตารางกิโลเมตร หรือ 935,625 ไร่ ซึ่งปัจจุบันหลายพื้นที่เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะไกลที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบธรรมชาติเดินทางมาท่องเที่ยวปีละหลายพันคน

สภาพโดยทั่วไปของป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลม มีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณ มีไม้ชนิดต่างๆ ขึ้นอย่างหนาแน่น มีเรือนยอดทึบ บางบริเวณพื้นที่มีความชื้นสูง เช่น บริเวณริมลำห้วย หรือตามร่องห้วย จะมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นเป็นพิเศษ มีสภาพคล้ายป่าดงดิบ นอกจากนี้ ยังมีสัตว์ป่าที่อาศัยร่วมกันในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม มีไม่น้อยกว่า 268 ชนิด พบโดยทั่วไป ได้แก่ ช้าง เสือโคร่ง เสือดาว เสือดำ เสือไฟ เสือลายเมฆ เลียงผา กวาง เก้ง หมีควาย หมีหมา หมาใน เป็นต้น ในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลมและลำธารต่างๆ มีปลาน้ำจืดอาศัยอยู่หลาก

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทำให้ในอดีตจึงมีปัญหาการล่าสัตว์ในพื้นที่อุทยานฯ เพื่อจำหน่าย และบริโภคตามวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนรอบๆ พื้นที่อุทยานฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง มอญ พม่า รวมทั้ง งคนไทย

จากปัญหาที่เกิดขึ้น นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จึงได้ริเริ่มนำชาวบ้านที่มีพฤติกรรมเป็นพรานป่าเข้ามาร่วมงานกับทั้งอุทยานฯ ด้วยการมาเป็นลูกจ้าง เพื่อช่วยให้บุคคลเหล่านี้มีรายได้ พร้อมอาศํยความชำนาญในพื้นที่มาช่วยในการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (smart patrol) ของชุดลาดตระเวนทั้ง 9 ชุด ของอุทยานฯ นอกจากนั้น ยังนำประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อุทยานฯ มามีส่วนร่วมในกิจกรรมท่องเที่ยวภายในอุทยานฯ ด้วยการเป็นลูกหาบ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ เพื่อลดการบุกรุก และล่าสัตว์ในป่า ซึ่งปัจจุบันมีชาวบ้านที่มาร่วมเป็นลูกหาบในกิจกรรมท่องเที่ยวเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะไกล ทั้งเส้นทางสันหนอกวัว และน้ำตกผาแตก มากกว่า 40 คน

นอกจากนั้น ยังได้จัดหาอาวุธ และจัดการฝึกทบทวนการใช้และบำรุงรักษาอาวุธและอุปกรณ์ต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตามระยะเวลาที่กรมอุทยานแห่งชาติกำหนด พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่ามาใช้ในการถ่ายภาพสัตว์ป่า และผู้บุกรุก เพื่อรวบรวมข้อมูล และจำแนกสัตว์ป่าแต่ละชนิดที่พบ พื้นที่ที่พบ พฤติกรรมผู้บุกรุก เพื่อวางแผนการอนุรักษ์ และวางแผนในการลาดตระเวนการป้องกันทรัพยากรสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานฯ

จากสถิติคดีการล่าสัตว์ป่าที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 พบการล่าสัตว์ 29 คดี 2562 ลดลงเหลือ 6 คดี 2563 เหลือ 3 คดี ล่าสุด ปี 2564 (ต.ค.63-15 มิ.ย.64) พบเพียง 1 คดี

ขณะที่นายไพโรจน์ ประดับสุข ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานเขาแหลม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ในอดีตชาวบ้านที่ล่าสัตว์เพื่อดำรงชีพตามวิถีชีวิต เนื่องจากไม่มีตลาด ไม่มีร้านค้า ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ แต่ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับพฤติกรรมในการล่าสัตว์ป่าของชาวบ้านที่นี่

ปัจจุบันมีร้านค้า มีรถมาขายกับข้าวถึงหน้าบ้าน ทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาป่าเหมือนในอดีต ที่สำคัญชาวบ้านมีงานทำมีรายได้ โดยเฉพาะการที่อุทยานฯ นำชาวบ้านมามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของอุทยานฯ เช่น การสร้างงานด้วยการเป็นลูกจ้าง เป็นลูกหาบ ทำให้คนกลุ่มนี้เปลี่ยนพฤติกรรมจากการเป็นผู้ล่า มาเป็นผู้อนุรักษ์เพราะป่า สัตว์ป่าในอุทยานฯ สร้างงาน สร้างรายได้ให้คนกลุ่มนี้














กำลังโหลดความคิดเห็น