เชียงใหม่ - หอการค้าเชียงใหม่แถลงภาวะเศรษฐกิจ ชี้โควิด-19 รุนแรงส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวหดตัวรุนแรง เฉพาะระลอก 3 สูญเสียรายได้แล้ว 6-7 หมื่นล้านบาท กระทบต่อเนื่องทุกภาคส่วนจนต้องแห่ปิดกิจการและเลิกจ้างงาน
วันนี้ (7 ก.ย. ) ที่ห้องประชุมสำนักหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่, ดร.กอบกิจ อิสรชีวัฒน์ รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ นายสมชายทองคำคูณ รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ ไตรมาสที่ 1-2 และแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3 และ 4 ประจำปี 2564
ทั้งนี้ พบว่าภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ไตรมาส 1 ปี 2564 หดตัวมากขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสอง ประกอบกับสถานการณ์หมอกควัน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและอัตราการเข้าพักลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังคงหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ และเมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 ภาคการท่องเที่ยวหดตัวมากขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม ที่ขยายวงกว้างและรุนแรงมาก นักท่องเที่ยวในประเทศชะลอการเดินทาง ตามมาตรการควบคุมแพร่ระบาดของกระทรวงสาธารณสุข
ส่งผลทำให้ในภาพรวมช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ภาคการท่องเที่ยวหดตัวรุนแรง สูญเสียรายได้ต่อเนื่องเกือบ 2 ปี ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการ แรงงานภาคท่องเที่ยวไม่มีรายได้ ขณะที่ภาคการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาทั้งสองไตรมาส การลงทุนเพื่อการก่อสร้างชะลอตัวตามภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอลงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอ ทำให้ผู้ประกอบการเลื่อนแผนการลงทุนออกไป การลงทุนเพื่อการผลิตขยายตัวเล็กน้อยจากการลงทุนในกลุ่มธุรกิจขนส่ง ทั้งสินค้า E-Commerce และสินค้าเกษตร โดยยังมีความต้องการซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ รวมทั้งการลงทุนนำเข้าเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและรองรับคำสั่งซื้อในอนาคตเฉพาะธุรกิจรายใหญ่บางรายเท่านั้น โดยภาพรวมช่วงครึ่งปีแรกของปีการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงมาก
ในส่วนของรายได้ภาคเกษตร ในครึ่งแรกของปี 2564 โดยรวมลดลงเล็กน้อย เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสุกรลดลงจากโรคระบาด ราคาสุกรเพิ่มสูงตามความต้องการจากตลาดภายในและต่างประเทศ ส่วนราคาข้าวโพดสูงขึ้นเล็กน้อย ราคาที่สูงยังไม่สามารถชดเชยรายได้ที่เสียไปจากผลผลิตที่ลดลงมาก
สำหรับผลผลิตพืชสำคัญชนิดอื่น เช่น ข้าว ลำไยนอกฤดู มะม่วง เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยและราคาอยู่ในเกณฑ์ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัว เครื่องชี้สำคัญ เช่น การใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.7 แต่ปรับตัวดีขึ้นช่วงไตรมาสสอง ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 อุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกฟื้นตัวตามเศรษฐกิจต่างประเทศ แต่ประสบปัญหาขาดตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้การขนส่งล่าช้า และต้นทุนการขนส่งสูงขึ้นมาก การผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศโดยรวมหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์จากโคนมและหมวดอาหารแปรรูปฟื้นตัวดี และช่วงปลายไตรมาสสองโรงงานแปรรูปผลิตผลเกษตร คอนกรีตผสมเสร็จเริ่มต้นผลิต
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นจากช่วงก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ตามราคาพลังงานจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น อัตราการว่างงานสูงขึ้นเป็นเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ในไตรมาสที่สอง เทียบกับอัตราว่างงานร้อยละ 1.6 ช่วงก่อนโควิดไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ธุรกิจปรับตัว เช่น การลดชั่วโมงการทำงาน ให้พนักงานหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง รวมทั้งเปลี่ยนเงื่อนไขการจ้างจากรายเดือนเป็นรายวัน และเลิกจ้างแรงงานประเภทสัญญาชั่วคราว
ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ยอดเงินฝากคงค้างของสาขาธนาคารพาณิชย์ลดลงจากช่วงก่อนหน้า เนื่องจากย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น จากที่โอนย้ายมาฝากกับธนาคารพาณิชย์ช่วงเกิดโควิดระลอกแรก ด้านสินเชื่อคงค้างยังคงขยายตัวต่อเนื่องในสินเชื่อประเภทค้าส่งค้าปลีก บริการและอุปโภคบริโภค ขณะที่สินเชื่อที่ให้แก่สถาบันการเงินประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมลดลง
ทั้งนี้ พบว่าผลกระทบจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนจนถึงขณะนี้ส่งผลให้จังหวัดเชียงใหม่ขาดแคลนรายได้ไปประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท เพราะรายได้หลักมาจากภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวเกือบทั้งหมด