นครพนม - เกษตรกรที่ อ.บ้านแพงพอใจการทำสวนเกษตรตามโมเดลโคก หนอง นา มีพืชผักผลไม้เก็บกินเก็บขายเป็นรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี เผยแต่ก่อนช่วงหน้าแล้งต้องออกรับจ้างงานก่อสร้างเพราะขาดน้ำทำเกษตรไม่ได้ แต่หลังเข้าร่วมโครงการฯ ใช้น้ำที่กักเก็บในสระได้ทั้งปี ชีวิตมีความสุขอย่างพอเพียง
“โคก หนอง นา” เป็นโครงการตามพระราชดำริ การทำการเกษตรภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บริหารจัดการน้ำและพื้นที่การเกษตรผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน แบ่งพื้นที่เป็นส่วนต่างๆ คือ พื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัย ขุดสระทำแหล่งน้ำ พื้นที่เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ โดยการแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ ดังกล่าวไม่กำหนดตายตัวขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของพื้นที่ และความเหมาะสมตามสภาพภูมิศาสตร์และสังคมท้องถิ่นนั้นๆ เกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ทำตามโมเดลโคก หนอง นา ต่างพอใจกับผลผลิตในนาไร่
เช่นเดียวกับที่ จ.นครพนม นางพินใจ สุพร เกษตรกรบ้านดอนกลาง หมู่ที่ 6 ต.หนองแวง อ.บ้านแพง เล่าว่า ตนและสามีมีที่ดินทำเกษตรอยู่ 21 ไร่ แต่ก่อนทำนาอย่างเดียว เมื่อถึงหน้าแล้งไม่มีน้ำก็ปล่อยทิ้งไว้ ไม่ได้ทำอะไร ปลูกพืชผักอะไรก็ไม่ได้ แต่จะหันไปรับจ้างก่อสร้างแทน รายได้ของครอบครัวแต่ละปีส่วนใหญ่มาจากการขายข้าวที่เหลือจากเก็บไว้รับประทาน ก็จะเหลือแค่ทุนอยู่ประมาณปีละ 2-3 หมื่นบาท
“ใจจริงลึกๆ แล้วฉันเคยคิดไว้ว่าถ้ามีเงินทุนอยากจะขุดคลองร่องน้ำรอบที่นา เพราะอยากทำแบบเกษตรอินทรีย์ ไร่นาสวนผสม แต่เก็บเงินไม่ได้สักที” นางพินใจเล่า และบอกอีกว่า
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาและมีโอกาสได้ไปดูงานสวนเกษตรตามที่ต่างๆ จะต้องมีคันคูรอบที่นาเพื่อไม่ให้น้ำจากที่อื่นเข้ามาได้ บังเอิญมากที่เมื่อไม่นานมานี้ได้มีโครงการโคก หนอง นา ของผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ที่ทางเกษตรอำเภอได้ออกมาสอบถามว่าใครสนใจเข้าร่วมโครงการบ้าง ก็ได้ตอบตกลงไปในทันทีโดยไม่ได้คิดอะไรมากมายเพราะรูปแบบการทำสวนเกษตรตรงกับใจพอดี
จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดิน เจ้าหน้าที่อีกหลายหน่วยงานเข้ามาสอบถามว่าตนต้องการจัดวางออกแบบสวนเกษตรแบบไหน อย่างไร ก็ได้เล่าให้เขาฟัง กระทั่งเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ก็ได้เข้ามาขุดสระ ขุดคลองไส้ไก่ และนำดินที่ขุดขึ้นมาทำคันคูให้จนแล้วเสร็จ จากนั้นตนกับสามีก็เริ่มปลูกพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่มีอยู่
นอกจากนี้ยังได้ซื้อต้นพันธุ์ไม้ผลมาปลูกเพิ่ม ทั้งเงาะ ลิ้นจี่ ขนุน มะพร้าว ลำไย และกล้วยน้ำว้า รวมถึงไม้เศรษฐกิจ เช่น ประดู่ มะค่า ยางนา ซึ่งพันธุ์ไม้ที่นำมาปลูกมีหลากหลายอย่าง เพราะมีทั้งที่หน่วยงานราชการให้มา ตนซื้อมาบ้าง และขอจากเพื่อนบ้านมาบ้าง
ปัจจุบันสวนเกษตรแบบที่เขาเรียกว่า โคก หนอง นา ก็เป็นรูปเป็นร่างให้เห็นแล้ว จึงคิดว่าแผนการทำเกษตรที่วางไว้น่าจะอยู่ได้ตลอดทั้งปี เพราะสระน้ำที่ได้มีความลึกประมาณ 5 เมตร น้ำก็เต็มสระ นั่นหมายถึงตลอดทั้งปีจะมีน้ำหล่อเลี้ยงแปลงเกษตรแห่งนี้ ที่สำคัญคือพอมีน้ำก็มีปลามาอาศัย ทั้งจากที่ตนปล่อยเลี้ยงไว้และมาจากที่อื่น คาดว่าในอีกปีสองปีน่าจะมีปลากมากขึ้นกว่าเดิม เพราะอย่างในปีนี้ที่เพิ่งขุดสระไม่นานก็มีปลามาให้เห็นแล้ว เป็นปลาลูกคอกประมาณ 4-5 กลุ่ม ส่วนการใช้น้ำก็ได้เตรียมที่จะหาระบบพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการสูบน้ำรดต้นไม้ที่ปลูก เป็นการทุ่นแรงงานและทำให้ต้นไม้ที่ปลูกได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ
นางพินใจบอกอีกว่า ที่นาแปลงนี้คิดไว้ว่าจะทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์ จึงพยายามปลูกให้มีพืชทุกอย่างที่เราอยากกินเพื่อจะได้ไม่ต้องไปหาซื้อที่อื่น และถ้ามีมากเพียงพอก็จะเปิดให้คนเข้ามาเยี่ยมชม ใครสนใจสินค้าเกษตรตัวไหนก็สามารถเลือกเก็บได้ด้วยตนเองจากแปลงเกษตรนี้แล้วค่อยมาจ่ายเงินรวมทีเดียวเลย
“ทุกวันนี้ฉันกับสามีก็มีรายได้จากการขายหมู เป็ด และไก่ ในอนาคตใกล้ๆ นี้วางแผนไว้ว่าจะตั้งแผงขายผักขึ้นในหมู่บ้าน โดยเก็บพืชผักปลอดสารชนิดต่างๆ ที่ปลูกไว้ในสวนมาวางขาย ไม่ว่าจะเป็น พริก มะเขือ ฟัก แฟง แตงกวา หอม ตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาว ซึ่งจะเก็บไปขายทุกวันได้เงินวันละ 200-300 บาทก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องเป็นหมื่นเป็นแสน เพราะเท่านี้ก็อยู่อย่างสบายเนื่องจากมีทุกอย่างให้ได้เก็บมารับประทานในครัวเรือนหมุนเวียนไปเรื่อย
นอกจากนี้ก็ยังมีการบำรุงไม้ผลเพื่อเก็บกินในระยะยาวด้วย ซึ่งหลายคนอาจจะมีคำถามว่าการทำโคก หนอง นา แบบนี้เป็นไปได้จริงหรือ ก็ต้องขอตอบว่าขึ้นอยู่กับกำลังแรงงานว่าจะทำได้และตั้งใจทำมากน้อยขนาดไหน ซึ่งทุกวันนี้จากที่ทำมาก็มีเพื่อนบ้านที่เห็นและเกิดความสนใจอยากจะทำบ้าง บางคนไม่มีที่ดินเป็นของตนเองก็เข้ามาพูดคุยมาขอใช้พื้นที่ตรงนี้ในช่วงฤดูแล้งเพื่อปลูกพืชผักขายร่วมกัน
เพราะเพื่อนบ้านมั่นใจว่าน้ำที่เก็บกักไว้ในสระน้ำคงจะมีเพียงพอใช้ได้ตลอดทั้งปี ซึ่งก็ได้ให้คำตอบพวกเขาไปว่าเมื่อถึงเวลานั้นค่อยมาคุยกันอีกทีว่าแต่ละคนจะทำอะไร อย่างไร ได้มากน้อยขนาดไหน รู้สึกมีความสุขมากที่ได้ทำเกษตรได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องไปหารับจ้างงานก่อสร้างในหน้าแล้งอีกแล้ว