อุบลราชธานี - ชาวชุมชนริมทางรถไฟประท้วงกลัวถูกการรถไฟแห่งประเทศไทยไล่ที่อยู่อาศัยมาเกือบร้อยปีเพราะยังไม่จ่ายค่าเช่า ด้าน รฟท.แจงยังไม่มีนโยบายไล่ พร้อมสั่งชะลอไว้ จนกว่าสถานการณ์โรคระบาดดีขึ้นถึงจะมาหารือกับชาวชุมชนอีกที
วันนี้ (2 ส.ค.) ชาวชุมชนลับแล หรือชุมชนรถไฟอุบลราชธานี ต.วารินชำราบ อ.วารินชำราบ ประมาณ 30 คน นำโดยนางสุรีรัตน์ ขันลับ รวมตัวประท้วงกรณีการรถไฟแห่งประเทศไทยมีหนังสือทวงถามให้จ่ายค่าเช่าที่ดินที่ชาวชุมชนอาศัยอยู่มานาน โดยมีมูลค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 4 หมื่นบาท ถึงกว่า 3 แสนบาท ตามเนื้อที่ของสิ่งปลูกสร้าง และให้รีบชำระภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ทำให้ชาวชุมชนที่ส่วนใหญ่เป็นคนยากจน มีอาชีพรับจ้างขายแรงงาน ไม่สามารถหาเงินมาชำระให้การรถไฟฯ เกรงจะถูกฟ้องขับไล่ จึงได้รวมตัวประท้วงและยื่นข้อเรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทยชะลอการดำเนินคดีต่อชาวชุมชนที่ยังค้างค่าเช่า ตั้งคณะกรรมการพิจารณาหาทางออกร่วมกับชาวชุมชน
เนื่องจากขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวชาวชุมชนได้ยื่นขอออกเป็นโฉนดชุมชนและอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมการโฉนดชุมชน ที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะทำงาน
ต่อมานายสงกรานต์ ดิษฐอั๊ง ผู้ช่วยสารวัตรงานเดินรถแขวงอุบลราชธานี ได้ชี้แจงต่อชาวชุมชนว่า เดิมคณะทำงานของการรถไฟฯ จะลงมาชี้แจงทำความเข้าใจกับชุมชน เรื่องหลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าเช่าที่ที่ชาวชุมชนค้างจ่ายอยู่ในเวลานี้ แต่เนื่องจากมีการระบาดของโควิด-19 คณะกรรมการได้เลื่อนการลงมาชี้แจง ซึ่งได้แจ้งให้หัวหน้าชุมชนทราบแล้ว และยืนยันระหว่างนี้ยังไม่มีการดำเนินคดีหรือฟ้องร้องขับไล่ชาวบ้านที่ค้างจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัยกับการรถไฟฯ แต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน ชาวชุมชนได้พากันมายื่นเรื่องต่อศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัด เพื่อให้รับพิจารณาปัญหาความเดือดร้อนครั้งนี้ของชาวชุมชนด้วย
สำหรับชุมชนรถไฟอุบลราชธานี ก่อกำเนิดมาจากกรรมกรที่มารับจ้างสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมา-อุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2474 หรือเกือบ 100 ปีก่อน หลังก่อสร้างทางรถไฟมาสิ้นสุดที่อำเภอวารินชำราบ โดยไม่มีการขยายเส้นทางเลียบแม่น้ำโขงต่อไปสิ้นสุดที่จังหวัดนครพนม ตามแผนเดิมที่ตั้งไว้
กรรมกรที่เป็นแรงงานก่อสร้างทางรถไฟจึงแปรสภาพมาเป็นคนงานรับจ้างแบกสิ่งของจากโกดังเก็บสินค้าของการรถไฟฯ อำเภอวารินชำราบ และมีการสร้างที่พักอาศัยอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ จนขณะนี้ลูกหลานของแรงงานในอดีตที่ทำคุณประโยชน์แก่การรถไฟฯ ได้ขยายครอบครัวมีผู้อยู่ในชุมชนถึง 240 หลังคาเรือน ประชากร 2,270 คน และได้ทำการเช่าที่อยู่กับการรถไฟฯ แต่ไม่มีความมั่นคงเพียงพอ จึงได้เสนอขอออกเป็นโฉนดชุมชนไว้กับทางรัฐบาลด้วย