xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรเลี้ยงกุ้งเมืองน้ำดำโอดโควิดพ่นพิษยาวนานทำเดือดร้อนหนัก ขายไม่ออก-แบกต้นทุนเลี้ยงเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาฬสินธุ์ - โรคโควิด-19 ระบาดยาวนานกระทบการทำมาหากินของพี่น้องชาวบ้านผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามเมืองน้ำดำเดือดร้อนอย่างหนัก หลังตลาดสด-ร้านอาหารปิดตัวระนาว จากเคยนำส่งวันละ 1 ตัน บางวันแทบไม่มีออเดอร์เข้ามา วอนรัฐบาลหาตลาดช่วย


วันนี้ (1 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ สัตว์เศรษฐกิจอันดับหนึ่งและอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดขณะนี้ประสบปัญหาด้านการตลาดอย่างหนักในรอบ 30 ปี เนื่องจากตลาดต่างๆ ในหลายพื้นที่และร้านอาหารที่รับซื้อปิดตัวลงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้กุ้งก้ามกรามไม่สามารถส่งไปขายได้อย่างเคย ต้องเลี้ยงไว้นานขึ้นทำให้สิ้นเปลืองและแบกรับค่าใช้จ่ายในเรื่องอาหารกุ้ง

นายวีรชาติ ภูโปร่ง เลขานุการสมาพันธ์ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์ บ้านโปร่งแค ต.บัวบาน อ.ยาง เล่าว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามใน จ.กาฬสินธุ์ ทั้งที่เข้ามารวมกลุ่มเป็นสมาชิกแปลงใหญ่ และรายย่อยทั่วไปมีอยู่ประมาณ 1,200 ราย พื้นที่ไม่ต่ำกว่า 3,000 ไร่ หรือประมาณ 2,000 บ่อ โดยจะขายที่ปากบ่อราคากิโลกรัมละ 250 บาท ที่ผ่านมาสร้างรายได้เข้าจังหวัดปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

แต่ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรก ปี 2563 ยอดขายเริ่มลดลงมาเรื่อยๆ ตามลำดับ


จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงที่โรคโควิดกำลังระบาดหนักทั่วประเทศยอดขายลดลงอย่างมากเพราะไม่สามารถส่งขายได้ตามปกติ ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มสมาชิกแปลงใหญ่ จากเดิมเคยส่งกุ้งให้ลูกค้าตามร้านอาหารและตลาดสดทั่วไปในภาคอีสานและ สปป.ลาว เฉลี่ยวันละ 500 กิโลกรัม และหากรวมกับเกษตรกรรายย่อยอื่นๆ จะสามารถส่งขายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 1 ตัน

แต่ทุกวันนี้ลดเหลือเพียงวันละ 200 กิโลกรัมเท่านั้น บางวันไม่มีออเดอร์เข้ามาและไม่ลูกค้าสั่งซื้อแม้กิโลกรัมเดียว เนื่องจากตลาดและร้านอาหารปิดเพราะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19




นายวีรชาติกล่าวอีกว่า จากผลกระทบด้านตลาดดังกล่าวแล้ว ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งแบกรับภาระค่าอาหารเลี้ยงกุ้งมากขึ้น เพราะกุ้งที่เลี้ยงไว้ตัวโตเต็มไวได้อายุจับขายแต่ไม่มีตลาดรับซื้อจึงต้องเลี้ยงนานขึ้น จำนวนกุ้งในบ่อจึงแออัด บางวันอากาศแปรปรวนทำให้กุ้งน็อกตาย สร้างความเสียหายซ้ำอีก ล่าสุดเกษตรกรบางรายแก้ไขปัญหาโดยการนำกุ้งสดขึ้นรถเร่ขายไปตามหมู่บ้าน บางรายทำเพิงพักขายตามไหล่ทางถนน

หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งคงได้รับความเดือดร้อนหนักกว่านี้แน่นอน จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลหรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหามาตรการเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของต้นทุนการผลิต ค่าพันธุ์ลูกกุ้ง ค่าอาหารกุ้ง และหาตลาดรับซื้อกุ้งด้วย ขณะที่ในส่วนของกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งเองก็กำลังมองหาทางออก ซึ่งอาจจะเป็นในเรื่องของการแปรรูปกุ้งจำหน่าย เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภคในยุคที่กำลังประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น