เชียงใหม่-สุดต้าน! “ไวท์เฮ้าส์” ร้านอาหารดังเชียงใหม่เกินทนสู้พิษโควิด-19 ยอมขายกุ้งและอาหารทะเลสดแช่แข็งกว่า 1 ตันในราคาขาดทุนกว่า50% เพื่อล้างสต็อกและลดต้นทุน พร้อมประกาศปิดร้านชั่วคราวจนกว่าทุกอย่างดีขึ้น เผยแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและดูแลลูกน้องข้ามปีจนไม่ไหวแล้ว วอนหน่วยงานรัฐเหลียวแลบ้าง หยิบยื่นความช่วยเหลือเยียวยาและจัดสรรวัคซีนให้ทั่วถึงเท่าเทียม
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่าจากสถานการณ์โควิด-19ที่ยังคงมีแนวโน้มรุนแรงและพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ทำให้หน่วยงานภาครัฐมีการออกมาตรการควบคุมต่างๆ อย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตามส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการต่างๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารและสถานประกอบการลักษณะคล้ายสถานบันเทิง ซึ่งที่ผ่านมาต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด ทั้งการงดให้ลูกค้ารับประทานที่ร้าน,การจำกัดเวลาเปิดปิดให้บริการและห้ามขายหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน เป็นต้น ทำให้ยอดขายและรายได้ลดลง ในขณะที่ภาระค่าใช้จ่าย ค่าจ้างพนักงาน และต้นทุนต่างๆ ยังคงเท่าเดิม ทำให้ผู้ประกอบการทุกรายจำเป็นต้องปรับตัวหรือดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อประคับประคองตัวอยู่ให้ได้
ทั้งนี้รายงานข่าวแจ้งว่า “ร้านไวท์เฮ้าส์” ซึ่งเป็นร้านอาหารกึ่งผับชื่อดังของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีเอกลักษณ์เป็นที่รู้จักชื่นชอบของลูกค้าจำนวนมากจากการเปิดเพลงและแสดงดนตรีในร้านเฉพาะเพลงยุค90เท่านั้น เป็นร้านอาหารอีกแห่งหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งต้องปรับตัวด้วยการขายอาหารเดลิเวอรี่ รวมทั้งล่าสุดช่วงต้นเดือน ก.ค.64 ต้องประกาศปิดร้านเป็นการชั่วคราว และขายล้างสต็อกอาหารสด โดยเฉพาะอาหารทะเลสดแช่แข็งอย่างกุ้งกว่า 1 ตัน ที่สั่งซื้อจัดเก็บไว้ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.64 เพื่อเตรียมสำหรับปรุงอาหารขายช่วงงานครบรอบเปิดร้านวันที่ 8 เม.ย.และเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งแบ่งขายให้กับร้านอาหารต่างๆ โดยยอมขายขาดทุนในราคาเพียง 50% เพื่อลดต้นทุนในการเก็บรักษาและเพิ่มกระแสเงินสดนำมาหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่าย
จากการสอบถามนายณภักษ์พงศ์ สิริบุณยเวช อายุ 52 ปี เจ้าของร้านไวท์เฮ้าส์ เปิดเผยว่า ทางร้านได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 63 อย่างไรก็ตามตั้งแต่เดือน เม.ย.64 ที่เริ่มระบาดระลอกใหม่ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันถือว่าได้รับผลกระทบหนักที่สุดจนเกินจะแบกรับได้ จากการให้ความร่วมมืออย่างดีในการปฏิบัติตามคำสั่งป้องกันควบคุมการระบาดของโรค ทั้งการต้องปิดร้านชั่วคราว,การห้ามนั่งกินในร้าน,การห้ามขายและดื่มสุราในร้าน หรือการกำหนดเวลาปิดร้านเร็วขึ้น เป็นต้น ทำให้รายได้จากการขายหดหายไปเกือบหมด และไม่คุ้มทุน ทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าจ้าง รวมทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าเช่า แม้จะพยายามปรับตัวแล้ว แต่รายได้ไม่เพียงพออยู่ดี ทว่ายังแบกรับภาระเรื่อยมาเพื่อดูแลพนักงานในร้านและหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในเร็ววัน
อย่างไรก็ตามล่าสุดจนถึงต้นเดือน ก.ค.64 ปรากฏว่าสถานการณ์ยิ่งมีแนวโน้มรุนแรงกว่าเดิมและมีมาตรการต่างๆ ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น จึงตัดสินใจปิดร้านชั่วคราวไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายค่อยกลับมาเปิดอีกครั้ง เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าถึงแม้จะเปิดก็ไม่คุ้มทุนที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพราะไม่มีลูกค้าใช้บริการสู้นำเงินที่ขาดทุนมาใช้จ่ายดูแลพนักงานดีกว่า และเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการรับหรือแพร่เชื้อในร้าน โดยที่ทางร้านยังคงดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานตามสมควรในเรื่องของอาหารการกินและค่าใช้จ่ายบางส่วน พร้อมกันนี้ได้นำอาหารทะเลสดแช่แข็ง โดยเฉพาะกุ้งคุณภาพดีประมาณ 1 ตัน ที่แช่แข็งเก็บไว้อย่างดีในตู้คอนเทนเนอร์ด้วยอุณหภูมิติดลบ 24 องศาเซลเซียส ออกขายขาดทุนในราคาเพียง 50% ประกาศขายผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีผลตอบรับอย่างดีจากลูกค้าที่ช่วยกันอุดหนุนจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว
โดยการกุ้งและอาหารทะเลสดแช่แข็งเพื่อล้างสต็อกในราคาที่ยอมขาดทุนกว่า 50%นั้น นายณภักษ์พงศ์ บอกว่า สั่งซื้อกุ้งและอาหารทะเลสดแช่แข็งดังกล่าวมาเตรียมไว้ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.64 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับขายในช่วงจัดงานครบรอบเปิดร้านในวันที่ 8 เม.ย.และช่วงสงกรานต์ แต่ประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิด-19 ช่วงตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย.64 ทำให้ต้องปิดร้านและต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ทำให้ต้องแช่แข็งเก็บรักษาไว้โดยไม่ได้ขาย ทั้งๆ ที่ปกติสามารถขายหมดในเวลาเพียงเดือนเดียวเท่านั้น ซึ่งต้นทุนในการเก็บรักษาด้วยการแช่แข็งนั้น เฉพาะค่าไฟฟ้าสูงถึงเดือนละกว่า 20,000 บาท ซึ่งล่าสุดสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ทำให้ตัดสินใจขายล้างสต็อกแบบยอมขาดทุน เพื่อลดต้นทุนดังกล่าวและให้พอมีเงินสดกลับคืนมาบ้างสำหรับใช้จ่ายต่างๆ ในช่วงสถานการณ์ยากลำบากนี้
นอกจากนี้นายณภักษ์พงศ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมานับตั้งแต่ที่เริ่มเกิดสถานการณ์โควิด-19 พยายามอย่างเต็มที่ในการประคับประคองตัวเองและแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งการดูแลความเป็นอยู่ของพนักงานหลายสิบคนด้วยตัวเองมาตลอด โดยไม่เคยเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากทางหน่วยงานรัฐ และไม่เคยได้รับการสำรวจหรือสอบถามใดๆ จากทางหน่วยงานภาครัฐด้วย อย่างไรก็ตามล่าสุดยอมรับตามตรงว่าสถานการณ์รุนแรงเกินกว่าจะแบกรับไหวแล้ว จึงอยากวิงวอนเรียกร้องถึงหน่วยงานรัฐให้ช่วยเหลือเยียวยาบ้าง โดยไม่ต้องเยียวยาตัวเองก็ได้ แต่อยากขอให้ช่วยเหลือพนักงานของร้านหลายสิบชีวิตก่อนเป็นลำดับแรก
สำหรับการช่วยเหลือเยียวยานั้น อยากได้ทั้งในรูปแบบของเงินหรือการช่วยเหลือค่าครองชีพต่างๆ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้รับเลย ขณะเดียวกันอยากเรียกร้องให้มีการจัดสรรวัคซีนโควิด-19ให้อย่างครอบคลุมทั่วถึงด้วย เนื่องจากพนักงานร้านอาหารถือว่าเป็นอีกกลุ่มอาชีพหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้รับการจัดลำดับความสำคัญเท่าที่ควร แม้ว่าจะเคยได้รับจัดสรรผ่านทางตัวแทนผู้ประกอบการร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ยังไม่เพียงพอทั่วถึง ยกตัวอย่างทางร้านที่มีพนักงานประมาณ 60 คน จนถึงปัจจุบันเพิ่งได้รับการฉีดวัคซีนเพียง 2 คนเท่านั้น ส่วนที่เหลือยังไม่รู้ชะตากรรม จึงอยากเรียกร้องในเรื่องนี้ด้วย