ศรีสะเกษ- อ่วม! จ.ศรีสะเกษพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่นิวไฮพุ่งพรวด 211 ราย ทำยอดป่วยสะสมทะลุุ 2,136 ราย ยังรักษาอยู่ รพ. 1,123 ราย เสียชีวิตสะสม 7 ราย สสจ.เผยบุคลากรแพทย์ติดเชื้อแล้ว 8 ราย วอนปชช.อย่าปกปิดข้อมูล
วันนี้ ( 22 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงพยาบาลสนาม เกาะกลางน้ำ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ ได้ไปตรวจติดตามการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซิโนฟาร์มให้แก่ประชาชนชาวศรีสะเกษ ซึ่งปรากฏว่า มีพระสงฆ์ พ่อค้าประชาชนทั่วไป พากันมาเข้ารับการฉีดวัคซีนกันเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยข้อมูลว่า ล่าสุดวันนี้ จ.ศรีสะเกษ พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม จำนวน 211 ราย เป็นจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดมาของ จ.ศรีสะเกษ ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมทะลุถึง 2,136 ราย รักษาหายเพิ่มวันนี้ 92 ราย รักษาหายสะสม 1,006 ราย ยังรักษาอยู่ 1,123 ราย เสียชีวิตสะสม 7 ราย
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ทั้ง 211 ราย แยกเป็นเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงจังหวัดอื่นตรวจพบเชื้อที่ จ.ศรีสะเกษ จำนวน 168 ราย ยอดสะสมติดเชื้อมาจากพื้นที่เสี่ยง จำนวน 1,393 ราย , ตรวจพบติดเชื้อภายในจังหวัดจำนวน 8 ราย ยอดสะสมติดเชื้อในจังหวัด 487 ราย และ ผู้ป่วยตรวจพบเชื้อในจังหวัดอื่นมารักษาที่จ.ศรีสะเกษ จำนวน 35 ราย ยอดกลับมารักษาสะสม 256 ราย โดย อ.ศรีรัตนะ มีผู้ป่วยติดเชื้อมากที่สุดจำนวน 362 ราย รองลงมาคือ อ.กันทรลักษ์ มีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวน 226 ราย
นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ขอฝากถึงพี่น้องประชาชนชาวศรีสะเกษว่า เรามีรายงานบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 ด้วย ส่วนใหญ่เป็นกรณีติดเชื้อจาก ผู้ที่เดินทางเข้ามาแล้วไม่ได้รายงานตัวแล้วกลับไปเมื่อมาตรวจก็พบว่าติดเชื้อโควิด-19 และส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เข้ามาไม่ได้แจ้งลูกหลานว่าตัวเองติดเชื้อ ดังนั้น ชาวศรีสะเกษที่ทำงานอยู่ในกลุ่มจังหวัดเสี่ยงสูงหากจะกลับเข้ามาในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ต้องรายงานตัวต่อบุคลากร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อจะได้ควบคุมป้องกันโรคและมีการกักตัว มิฉะนั้นจะแพร่เชื้อให้กับญาติพี่น้องในครอบครัว และเมื่อญาติพี่น้องป่วยเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล ก็มีประวัติว่าไม่ได้ไปไหน เมื่อมาที่โรงพยาบาลทำให้แพร่เชื้อต่อบุคลากรทางการแพทย์
บุคลากรทางการแพทย์นี้ต้องถือว่าเป็นบุคลากรสำคัญที่ดูแลพี่น้องประชาชนที่เจ็บป่วย หากบุคลากรทางการแพทย์เจ็บป่วยยิ่งเป็นโรคโควิด-19 ด้วย เราจะขาดกำลังสำคัญในการดูแลพี่น้องประชาชนชาวศรีสะเกษ ขณะนี้มีบุคลากรทางการแพทย์ จ.ศรีสะเกษ ติดเชื้อโควิด-19 แล้วจำนวนที่ได้รับรายงานคือ 8 ราย กระจายอยู่ในหลายอำเภอ เพราะบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อก็จะต้องสัมผัสบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกันและต้องถูกกักตัว ซึ่งการกระจายเชื้ออาจลามไปถึงผู้ป่วยที่นอนรักษาอยู่โรงพยาบาลที่ไม่ได้เป็นโรคโควิดด้วย ฉะนั้น ตรงนี้ถือว่าเป็นความเสี่ยงสูงมาก นพ.ทนง กล่าวในตอนท้าย