แพร่ - เมืองแพร่เดินหน้าเปิด รพ.สนาม One Stop Service รับผู้ป่วยโควิดจากพื้นที่เสี่ยงคืนถิ่นที่มีมาเพิ่มต่อเนื่องจน รพ.แพร่ใกล้เต็ม ต้องสำรองโรงพยาบาลอำเภอรองรับ ยันหมอแพร่ไม่ท้อ แม้พยาบาลฉีดซิโนแวคติดโควิดเสียชีวิต
วันนี้ (13 ก.ค. 64) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่รายงานสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดว่าพบผู้ป่วยรายใหม่อีก 21 ราย เป็นผู้ป่วยจากพื้นที่เสี่ยงสูงที่ติดต่อขอกลับมารักษายังภูมิลำเนา ตามโครงการ “คนแพร่ไม่ทิ้งกัน” จำนวน 19 ราย และผู้ป่วยที่พักในสถานที่ที่รัฐจัดให้ 2 ราย
ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเป็น 211 ราย เป็นผู้ติดเชื้อสะสมในจังหวัด 128 ราย คนแพร่ไม่ทิ้งกันและกลับมาจากต่างจังหวัด สะสม 76 ราย จากสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ 7 ราย (เสียชีวิตสะสม 2ราย) รักษาตัวอยู่ 104 ราย รักษาหายแล้ว 105 ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอยู่ในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ 20 ราย รอผลตรวจ 54 ราย
ด้านนายแพทย์ เกรียงศักดิ์ ธนอัศวนนท์ ผอ.โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย ทำหน้าที่รอง ผอ.รพ.สนามจังหวัดแพร่ กล่าวขณะรับมอบเครื่องดื่มสมุนไพร และข้าวกล่อง อาหารสำเร็จรูป ฯลฯ ที่นายคมสันต์ จอมพาปิน ตัวแทนพระครูปราโมทย์ ประชานุกุล (หลวงลุงอนันต์) เจ้าอาวาสวัดดอนจั่น จ.เชียงใหม่ พร้อมด้วย ม.ล.สราลี กิติยากร (คุณน้ำผึ้ง) นายวุฒิศักดิ์ รัตนสุวรรณ์ สองผู้บริหารบริษัทผึ้งหลวง อัศวิน จำกัด สำนักงานใหญ่ และ ร.ต.อ.ณัฐวัตร โอภาศ รองสารวัตร สถานีตำรวจท่องเที่ยว (จ.แพร่-น่าน) รวมถึงบริษัทห้างร้านในท้องถิ่น-จิตอาสา นำมาสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด
รอง ผอ.รพ.สนามจังหวัดแพร่กล่าวว่า แพร่พร้อมเปิดรับผู้ป่วยเข้ามารักษา โดยเฉพาะคลัสเตอร์ใหม่ที่ กทม.ตามโครงการ คนแพร่ไม่ทิ้งกัน ผู้ป่วยที่เป็นชาวแพร่และยังไม่มีสถานพยาบาลรักษาใน กทม.สามารถเข้ามารับบริการทางการแพทย์ที่จังหวัดแพร่ได้
ขณะนี้จังหวัดได้ตั้งโรงพยาบาลสนาม จ.แพร่ ให้บริการแบบ One Stop Service ตั้งแต่แจ้งเหตุ-ประเมินสถานการณ์-ส่งต่อ โดยคนไข้ระดับสีเขียวจะให้อยู่ใน รพ.สนาม ที่รับได้จำนวน 120 คน หากอาการหนักระดับสีเหลือง-สีแดง ก็ส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลแพร่ ส่วนผู้ป่วยที่มีรถพยาบาลนำมา สามารถไปที่โรงพยาบาลแพร่ได้โดยตรง ซึ่งขณะนี้แม้ รพ.แพร่ใกล้จะเต็มเหมือนกัน ก็ได้เตรียมสำรองโรงพยาบาลเพิ่มทั้งโรงพยาบาลลอง โรงพยาบาลร้องกวาง พร้อมระดมบุคลากรทางการแพทย์จาก รพ.ประจำอำเภอ รพ.สต.หมุนเวียนมาดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่
กรณีบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม แต่เกิดติดเชื้อ ป่วยและมีอาการหนักถึงชีวิต ซึ่งเป็นชาวจังหวัดแพร่ อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในวัคซีนและความมั่นใจการเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ลดลง นายแพทย์ เกรียงศักดิ์กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าวัคซีนทุกตัวฉีดแล้วมีผลกระทบ ทั้งติดเชื้อและถึงเสียชีวิต รวมถึงภูมิคุ้มกันที่ลดลงได้
แต่เพื่อความมั่นใจในการทำงาน ทางรัฐบาลได้เน้นพิเศษสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่ฉีดซิโนแวคแล้วภูมิต้านทานที่ได้อาจลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะนี้มีโครงการจากกระทรวงมีการกระตุ้น 2 อย่าง ภายในสัปดาห์นี้จะกระตุ้นด้วยวัคซีน AstraZeneca ให้แก่ผู้ที่ให้บริการอยู่ด่านหน้าที่ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว
ส่วนไฟเซอร์ เป็นวัคซีนที่จะเข้ามาในช่วงต้นเดือนหน้า-ปลายเดือน ก็จะนำมาฉีดเสริมให้บุคลากรด่านหน้าในลำดับต่อไป ซึ่งในปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดแพร่ยังคงมีขวัญกำลังใจ ทำงานเต็มกำลังความสามารถ ต่อสู้กับการระบาดของเชื้อไวรัสต่อไป