xs
xsm
sm
md
lg

ยังวุ่น! หลาย อปท.ในจังหวัดประจวบฯ ยังหาที่ทิ้งขยะกว่า 200 ตัน นอกเขตจังหวัดไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประจวบคีรีขันธ์ - ยังวุ่น! หลาย อปท.ในจังหวัดประจวบฯ ยังหาที่ทิ้งขยะกว่า 200 ตันนอกเขตจังหวัดไม่ได้ หลายแห่งต้องดิ้นรนหาที่ทิ้งชั่วคราว ส่วนฝ่ายปกครองชะอำ ตั้งด่านเข้มดักรถขยะจากประจวบฯ ทหาร มทบ.15 ยันปิดบ่อฝังกลบ ศร. เหตุ อปท.ผิดเงื่อนไข มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (3 ก.ค.) ความคืบหน้าขยะล้นเมืองในหลาย อปท.จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีพื้นที่บำบัดขยะวันละกว่า 170 ตัน ทั้งในและนอกจังหวัด แต่ได้ใช้พื้นที่ในเขตเทศบาล พบว่า มีที่ดิน 7 ไร่ ในซอย 102 ห่างจากถนนสายหลักก่อนเข้าซอย 3 กิโลเมตร ปรับปรุงพื้นที่เพื่อใช้เป็นสถานที่กองขยะชั่วคราวตั้งแต่เย็นวานนี้แล้ว

เพื่อให้สามารถจัดเก็บขยะในชุมชนที่ตกค้างทั้งหมดมาทิ้งเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะสามารถจัดหาสถานที่ทิ้งขยะนอกเขตจังหวัดได้สำเร็จ ซึ่งวันนี้ได้ให้ทางบริษัทเอกชนที่รับเก็บขยะไปจำกัดนั้นเพิ่มรอบการจัดเก็บให้มากขึ้นเพื่อเคลียร์ปัญหาขยะในถังตามจุดต่างๆ เนื่องจากชาวบ้านนำขยะออกมาทิ้งเพิ่มขึ้นเนื่องจากเมื่อวานขยะเต็มถังรองรับ


ด้านนายเกรียงไกร ทวีกาญจน์ นายยกเทศมนตรีตำบลหนองพลับ กล่าวว่า ตอนนี้ในเมื่อยังไปทิ้งนอกเขตจังหวัดไม่ได้ จึงได้ประสานบ่อขยะเก่าสมัยที่ยังเป็นสุขาภิบาลอยู่สามารถนำขยะไปทิ้งได้ที่บ่อลูกรังเก่า เป็นการชั่วคราววันละประมาณ 3 ตัน จนกว่าจะหาสถานที่ทิ้งขยะได้ โดยหลังจากนี้จะต้องเน้นให้ชาวบ้านในชุมชนช่วยกันคัดแยกขยะ ออกมาโดยเฉพาะขวดพลาสติก และขยะแบบไหนที่มีการรับซื้อสามารถนำไปขายได้ และสร้างความเข้าใจให้ชุมชนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องของขยะ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ปัญหาขยะตามเทศบาล อบต.ในพื้นที่ซึ่งไม่สามารถนำไปทิ้งที่บ่อศูนย์การทหารราบได้แล้วนั้น หลายพื้นที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เพราะไม่สามารถนำขยะไปทิ้งนอกเขตได้ เนื่องจากจังหวัดเพชรบุรี มีคำสั่งห้าบรรทุกสิ่งปฏิกูลและขยะเข้ามาในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี 

ในขณะที่ อปท.ในพื้นที่อำเภอกุยบุรี มีรายงานว่าภายหลัง นายกมล แก้วเทศ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ เรียกผู้เกี่ยวข้องประชุมด่วน หลังจากเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ ต้องยุติการนำขยะวันละกว่า 45 ตัน ไปบำบัดที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี หลังจากจ้างบริษัทเอกชนรับเหมาใช้งบประมาณเดือนละ 1.5 ล้านบาท นานหลายปี ล่าสุดบริษัทเอกชนได้นำขยะในเขตเทศบาลไปกองพักไว้ในที่ดินเอกชนมนพื้นที่ ต.อ่าวน้อย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ แต่ยังไม่มีแนวทางการนำขยะไปบำบัด และบริษัทเอกชนจะไม่ประสงค์ที่จะต่อสัญญาหลังสิ้นสุดสัญญาจ้างบรรทุกขยะไปทิ้งข้ามจังหวัดในเดือน ก.ย.64


ด้านแหล่งข่าวจากผู้บริหาร อบต.อ่าวน้อย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ อบต.ไม่มีนโยบายให้นำขยะจากนอกพื้นที่เข้ามาทิ้ง หลังจากหลายปีก่อนสภา อบต. มีมติไม่อนุญาตการนำขยะจากเทศบาลเมืองประจวบฯ ไปบำบัดที่บ่อขยะเอกชนที่หมู่ 3 บ้านคั่นกระได ต.อ่าวน้อย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ขณะนี้ อบต.อ่าวน้อย อนุญาตให้เทศบาล กม.5 นำขยะไปบำบัดที่เตาเผา เนื่องจากมีปัญหาปิดบ่อขยะในศูนย์การทหารราบ โดย อบต.จะอนุญาตให้ดำเนินการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น

ขณะเดียวกัน นายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ปัญหาขยะในจังหวัดมีการพูดคุยกับเทศบาล และ อบต. เพื่อหาแนวทางที่จะมีโรงงานกำจัดขยะ โดยมีทางเลือกจากการนำขยะมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า เนื่องจากในภาพรวมมีขยะเฉลี่ยวันละ กว่า 280-300 ตัน แต่เป็นการลงทุนของภาคเอกชน จึงต้องมีการศึกษาผลกระทบ การรับฟังความเห็นจากประชาชนและยังมีอีกหลายขั้นตอน ใช้เวลานานพอสมควร ทราบว่าเทศบาลตำบลเขาน้อย อ.ปราณบุรี กำลังประสานกับเทศบาล และ อบต.หลายแห่ง แต่ที่สำคัญการแก้ไขปัญหาขยะทุกฝ่ายต้องร่วมมือหาวิธีการลดขยะจากต้นทางให้ได้


พ.ต.ธีรพงศ์ นามสละ นายทหารที่ดิน มณฑลทหารบกที่ 15 (มทบ.15) จ.เพชรบุรี เปิดเผยว่า หลังจากมีปัญหาขยะล้นเมืองใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ วันละกว่า 200 ตัน โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน เทศบาลเมืองประจวบฯ และองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) อีก 20 แห่ง เนื่องจากมีการปิดบ่อขยะแบบฝังกลบในพื้นที่ศูนย์การทหารราบค่ายธนะรัชต์ (ศร.) อ.ปราณบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นได้เดินทางไปตรวจสอบการบริหารจัดการขยะร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ศร. พบว่า การขออนุญาตเปิดบ่อขยะตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2544 ตลอดระยะเวลาได้ดำเนินการผิดเงื่อนไขอย่างต่อเนื่อง


พ.ต.ธีรพงศ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการปล่อยให้มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะที่ศูนย์การทหารราบได้แจ้งให้ทุก อปท.ทราบว่าจะปิดบ่อฝังกลบหากหมดสัญญาในเดือนสิงหาคม 2564 แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้เตรียมความพร้อมวางแผนล่วงหน้า ส่วนข้อเรียกร้องให้เปิดบ่อขยะแห่งเดิมในศูนย์การทหารราบเป็นการชั่วคราวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน คาดว่าอาจจะมีการเจรจาในระดับนโยบาย ขณะที่หน่วยงานใน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ตั้งด่านสกัดบนถนนเพชรเกษม และถนนสายรองทุกเส้นทาง เพื่อตรวจสอบบรรทุกขยะจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์

จากรายงานการติดตามและประเมินในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานภาครัฐ พบว่า การจัดการขยะภายในศูนย์การทหารราบมีขยะฝังกลบ 300 ตันต่อ/วัน แต่ความสามารถในการกำจัดรองรับสูงสุดเพียง 60 ตันต่อ/วัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีรายได้จากการรับกำจัดขยะ 25 ล้านบาทต่อ/ปี จากการเก็บตัวอย่างคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อตรวจสอบค่าโลหะหนัก 10 ชนิด ตามมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน และการตรวจสอบระบบระบายก๊าซ ทำให้พื้นที่รอบบ่อขยะมีความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” พ.ต.ธีรพงศ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น