ตาก - แชร์ชื่นชมกันกระหึ่ม ทหารพรานไทยแบกถังออกซิเจนร่วมกับพยาบาลวิชาชีพ จิตอาสาใต้ร่มพระบารมี เดินฝ่าฝน ลุยถนนโคลนเลน ขึ้นลงดอยท่าสองยาง ระยะทางกว่า 7 กิโล ช่วยนำหนูน้อยวัย 3 ขวบ หอบหืดกำเริบ ปอดอักเสบ ที่พ่อมัดติดหลังส่ง รพ.
ขณะนี้ผู้คนในโลกโซเชียลต่างพากันแชร์ชื่นชมกันต่อเนื่อง หลังกองกำลังนเรศวร กองทัพภาคที่ 3 โพสต์ภาพเจ้าหน้าที่ทหารพราน กองร้อยทหารพรานที่ 3506 จังหวัดตาก แบกถังออกซิเจนติดหลังเดินเท้าบนโคลนเลนขึ้นลงภูเขาสูงท่ามกลางสายฝนตกไม่ขาดสาย ตีคู่กับผู้เป็นพ่อที่มัดร่างลูกน้อยวัย 3 ขวบ ซึ่งอาการป่วยกำเริบรุนแรงติดหลัง เพื่อนำส่งให้ถึงมือหมอ พร้อมกับพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ โรงพยาบาลท่าสองยาง
โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 โดยกองร้อยทหารพรานที่ 3506 จัดกำลังพลสนับสนุนรถยนต์บรรทุกขนาด 4x4 ของหน่วย "พันธุ์ปลาพระ ราชทานฯ" จากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดให้กลุ่มจิตอาสาภายใต้ชื่อ “จิตอาสาใต้ร่มพระบารมี” เครือข่ายพัฒนาชนบท โครงการของขวัญจากก้อนดิน เพื่อมอบพันธุ์ปลาพระราชทาน จำนวน 1,000 ตัว ให้ชาวบ้าน โดยมี น.ส.มณิศรา โฮ่บรรเทา พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ เป็นผู้รับมอบ ณ บ้านบลาเด หมู่ที่ 17 ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
โดยได้ดำเนินการปล่อยพันธุ์ปลาพระราชทาน ประกอบด้วย ปลานิล 500 ตัว ปลาทับทิม 500 ตัว ลงในแหล่งน้ำ พร้อมกันนั้น ทีมพยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลนครนายก ยังได้ดำเนินการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายและความดันโลหิตให้ราษฎรที่มาร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย
ระหว่างนั้นได้รับแจ้งว่า มีผู้ป่วยเป็นเด็กหญิง เป็นโรคหอบหืดเรื้อรัง จำนวน 2 ราย ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน พ.อ.จักรพงษ์ เทพพันธุ์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 จึงสั่งการให้ชุดเคลื่อนที่เร็ว กองร้อยทหารพรานที่ 3506 พร้อมด้วยทีมพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการโรงพยาบาลนครนายก ทีมจิตอาสาใต้ร่มพระบารมี ร่วมกันเดินทางอย่างเข้าพื้นที่ป่าภูเขาสูงชันภายในหมู่บ้าน บลาเด หมู่ที่ 17 ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เพื่อให้การช่วยเหลือนำตัวผู้ป่วยเด็กหญิงส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน
โดยกำลังทหารพราน 3506 และทีมพยาบาลต้องแบกอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นขึ้นหลัง เดินเท้าขึ้นภูเขาสูง เนื่องจากเส้นทางเข้าออกหมู่บ้านรถยนต์ไม่สามารถใช้สัญจรได้ตามปกติหลังฝนตกหนัก ทำให้สภาพถนนลื่นและหลายจุดกลายเป็นทะเลโคลน
กระทั่งต่อมา ทีมทหารพราน พร้อมทีมพยาบาลก็สามารถเดินเท้าเข้าถึงบ้านผู้ป่วย ซึ่งมีฐานะยากจน และได้พบกับผู้ป่วยรายแรก คือ ด.ญ.พัชรา ลาภผลพัฒนาคีรี อายุ 3 ขวบ ซึ่งป่วยด้วยอาการทางระบบหายใจเรื้อรังและมีภาวะปอดอักเสบ นอนรอการช่วยเหลืออยู่ภายในบ้านพักกลางดอย โดยมีผู้ปกครองมาคอยดูแลอาการอยู่ข้างๆ
ทีมพยาบาลจึงรีบตรวจร่างกายเด็กหญิงรายนี้และประเมินว่า ควรรีบส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลในตัวอำเภอท่าสองยางอย่างเร่งด่วน แต่การลำเลียงผู้ป่วยสุดยากลำบาก เนื่องจากรถยนต์ไม่สามารถเข้ารับตัวเด็กหญิงผู้ป่วยรายนี้ได้ เจ้าหน้าที่ทหารพรานจึงตัดสินใจช่วยกันแบกหนูน้อยขึ้นหลัง พร้อมแบกถังออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจเดินเท้าคู่กันขึ้นลงดอยอย่างยากลำบาก เป็นระยะทางยาวไกลกว่า 7 กิโลเมตร
โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนต่างช่วยกันลำเลียงผู้ป่วยพร้อมเร่งฝีเท้าแข่งกับเวลา เนื่องจากเกรงว่าฝนจะตกในระหว่างการลำเลียงหนูน้อยไปรักษา จนเวลาต่อมา ทีมเจ้าหน้าที่ทุกนายพร้อมหนูน้อยก็สามารถเดินเท้าลงมาถึงในจุดที่รถยนต์ทหารพรานรอรับ ทีมพยาบาลและพลขับรถทหารพรานรีบนำตัวผู้ป่วยเด็กหญิงรายนี้ส่งไปรักษาตัวที่โรพยาบาลในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย ท่ามกลางความดีใจของชาวบ้านในหมู่บ้านที่มีทีมเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายมาช่วยเหลือในครั้งนี้
ต่อมา วันที่ 24 มิ.ย. ทหารพรานกองร้อยทหารพรานที่ 3506 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 พร้อมด้วยรถยนต์บรรทุกของหน่วย เดินทางไปพร้อมกับ น.ส.มณิศรา โฮ่บรรเทา พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ เดินทางขึ้นไปช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กหญิงรายที่ 2 ที่เป็นโรคหอบหืดเช่นกัน คือ ด ญ.พัชราพา ลาภผลพัฒนคีรี อายุ 3 ขวบ เป็นโรคหอบเรื้อรัง และมีภาวะปอดอักเสบ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ออกซิเจน และพ่นยาเพื่อให้การหายใจได้สะดวก โดยได้นำตัวเด็กหญิงผู้ป่วยเดินทางขึ้นรถมาทำการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ระเมิง ก่อนส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลท่าสองยาง
ทั้งนี้ ปัจจุบันกำลังพลของทหารพรานหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 ได้ดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ออกลาดตระเวนป้องกันแนวชายแดนป้องกันกระทำผิดกฎหมายตามแนวชายแดน พร้อมป้องกันการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอย่างเข้มข้นในช่วงโควิด-19 ระบาด นอกจากนี้ ยังได้จัดชุดปฏิบัติการทหารพรานช่วยเหลือประชาชนร่วมกับทีมแพทย์พยาบาลในพื้นที่ต่างๆ ในการร่วมทำการสนับสนุนกำลังพลทหารพรานและยานพาหนะเพื่อช่วยเหลือลำเลียงผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งที่ผ่านมา สามารถช่วยลดการสูญเสียชีวิตของผู้ป่วยได้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพทุกครั้ง