ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ทัศน์ศิลป์ มรภ.โคราชจัดเต็ม! ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ด้วยศิลปะกับประติมากรรมเพื่อชุมชน ต.ชีวาน อ.พิมาย ภายใต้โครงการมหาวิทยาสู่ชุมชน สร้างรากแก้วให้ประเทศ “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” เผยสร้างสรรค์ด้วยวัสดุท้องถิ่น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อท ประชาชนมีส่วนร่วม สร้างองค์ความรู้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างเศรษฐกิจยั่งยืนให้ชุมชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ชีวาน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ได้จัดการอบรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ด้วยศิลปะเพื่อชุมชน ภายใต้ “โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้กับประเทศ” ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ นำโดย รศ.ดร.สามารถ จับโจร พร้อมด้วย ผศ.ดร.สายสุนีย์ จับโจร อาจารย์อาวุธ คันศร และคณะนักศึกษาจากหลักสูตรทัศนศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา
โดยเนื้อหาของหลักสูตรที่ใช้ในการอบรมเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนให้ชุมชน ด้วยผลงานศิลปะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุมีอยู่ในท้องถิ่นในการสร้างสรรค์ โครงสร้างและวัสดุที่นำมาใช้ในการสร้างสรรค์ เช่น ไม้ไผ่และวัสดุเหลือใช้ เป็นการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรม โดยให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมเป็นการสร้างองค์ความรู้ให้ชุมชนอย่างแท้จริงด้วยผลงานศิลปะกับสิ่งแวดล้อม ที่มีรูปแบบและแนวความคิด ตลอดทั้งวัสดุที่ใช้ในการทำงานมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
สำหรับแนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานได้รับแรงบัลดาลใจจากปลานานาชนิดที่มีความหลากหลายมากมายในชุมชน นอกจากนี้ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนชาวตำบลชีวาน มีวิถีเรียบง่าย ดำเนินชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงชีพด้วยการเกษตรในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีขนบธรรมเนียมประเพณีดีงาม และมีความสงบร่มเย็นตามอัตภาพ
วัสดุในการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรม คือ ไม้ไผ่ ซึ่งเป็นไม้ท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วไปตามหัวไร่ปลายนา และตามลุ่มน้ำสาขาของชุมชน ส่วนรูปทรงที่ใช้จิตนาการในการสร้างสรรค์ จากความประทับใจ จากปลาซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่หล่อเลี้ยงประชาชนตำบลชีวานมาทุกยุคสมัย เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ เครื่องมือจับสัตว์น้ำและคันโซ่งัดน้ำที่นำมาใช้เป็นโครงสร้างประกอบชิ้นผลงานประติมากรรม โดยนำมาตัดทอนความเหมือนจริงในธรรมชาติลง แต่คงเอกลักษณ์และความโดดเด่นของรูปทรงไว้ใส่เนื้อหาและจินตนาการตามหลักการของการสร้างสรรค์ด้านประติมากรรมเข้าไปแทนที่ ใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างหลักและถักทอผิวด้านนอกของรูปทรงประติมากรรมด้วยผิวของไม้ไผ่จนได้รูปทรงตามที่ต้องการ
นอกจากนี้ ยังเสริมเติมแต่งด้วยวัสดุเหลือใช้ เช่น สายลัดพลาสติก ซึ่งมีสีสันที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดสีสันและจินตนาการทำให้ชิ้นผลงานมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ปลาตะเพียนชื่อที่เป็นมงคล มีความหมาย ชื่อแห่งความพากเพียรและสมัครสมานสามัคคีกันของชุมชน
ผลงานประติมากรรมสื่อผสมนี้มีขนาดความสูง 10 เมตร ติดตั้งอยู่ด้านหน้าโรงเรียนบ้านซาต ต.ชีวาน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ถือเป็นการร่วมมือประสานใจเพื่อเสริมส่งโครงการศิลปกรรมร่วมสมัยให้เกิดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมา เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการต้อนรับเทศกาลการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Korat 2021 ที่จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ ถือเป็นการจุดประกายฉายภาพให้เห็นความพร้อมเพรียงของชุมชนทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
ผลงานงานประติมากรรมกับสภาพสิ่งแวดล้อมมีขนาดใหญ่มีความหมายและความงดงาม ทั้งเรื่องของรูปทรงโครงสร้าง ตลอดทั้งวัสดุที่นำมาสร้างสรรค์รวมทั้งเนื้อหาแนวความคิด ซึ่งจะช่วยในการประชาสัมพันธ์ให้งานการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Korat 2021ซึ่งจะจัดขึ้นที่ จ.นครราชสีมา ในปลายปีนี้
ผลงานประติมากรรมกับชุมชนสร้างรากแก้วให้กับประเทศด้วยวัสดุท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์สำเร็จลุลวงด้วยดี เพราะได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลชีวาน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านซาด ผู้นำชุมชน ปลัด อบต. ประชาชนชาวบ้านคนชีวาน นักเรียน นักศึกษาที่ได้ร่วมกันทำงานอย่างแข็งขันทำให้การสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมเสร็จสิ้นไปได้ด้วยดี และเป็นที่น่าชื่นชมสิ่งที่ประทับใจ และไม่อาจลืมเลือนได้คือรอยยิ้มอันภาคภูมิใจของประชาชนคนชีวาน กับสิ่งที่ร่วมกันสร้างสรรค์จนแล้วเสร็จจนเกิดเป็นความรัก ความสามัคคี ความศรัทธา ด้วยหยาดเหงื่อ แรงกาย แรงใจ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนได้อย่างมีเอกภาพ
อนึ่ง การดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ของมหาวิทยาลัยในพื้นที่จะประกอบด้วยองค์ประกอบหลักๆ ดังนี้
1.มหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่หน่วยงานบูรณาการโครงการ (System Integrator) รายตำบล โดยใน 1 ตำบล จะมี 1 มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ดูแล
2.มหาวิทยาลัยดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล ตามปัญหาและความต้องการของชุมชน เช่น การพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพใหม่ (การยกระดับสินค้า OTOP/อาชีพอื่นๆ) การสร้างและพัฒนา Creative Economy (การยกระดับการท่องเที่ยว) การนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชน (Health Care/เทคโนโลยีด้านต่างๆ) และการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม/Circular Economy (การเพิ่มรายได้หมุนเวียนให้แก่ชุมชน) ตามรูปแบบกิจกรรมที่จะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ที่รับผิดชอบ
3.มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยจ้างงานในการดำเนินโครงการของหน่วยงานต่างๆ ในตำบลที่ทำหน้าที่ดูแล โดยจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษาไม่น้อยกว่า 20 คนในแต่ละตำบล
4.มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ประสานงานและทำงานร่วมกับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการโครงการภายในพื้นที่
5.มหาวิทยาลัยทำหน้าที่บูรณาการและสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ที่ไปดำเนินการโครงการภายในตำบล ในด้านองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
6.มหาวิทยาลัยจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชนรายตำบล (Community Big Data) เพื่อให้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมายชัดเจน