ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชยอดผู้ป่วยโควิดพุ่งต่อเนื่องอีก หลังเปิดภาคเรียนและเพิ่งผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรค ล่าสุด พบผู้ป่วยรายใหม่ทะลุ 20 ราย ผู้ว่าฯ ย้ำโรงเรียนไหนเสี่ยง ผอ.สั่งปิดได้ทันที พบผวาปิดโรงเรียนแล้วหลายแห่งในพื้นที่ 3-4 อำเภอ ขู่หากสถานการณ์ไม่ดีจะทบทวนมาตรการที่ผ่อนปรนไป
วันนี้ (23 มิ.ย.) นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังมีการผ่อนปรนมาตรการควบคุม ว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังเปิดภาคเรียนเพียง 1 สัปดาห์ ส่งผลให้มีโรงเรียนในหลายพื้นที่ มีการสั่งปิดโรงเรียนอีกครั้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ประมาณ 5-6 แห่ง เช่น อ.ปักธงชัย, อ.เมืองนครราชสีมา เช่น โรงเรียนอุบลรัตน์ราชกัญญาราชวิทยาลัยนครราชสีมา โรงเรียนอุบาลนครราชสีมา โรงเรียนสุรนารีวิทยา และ อ.เสิงสาง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นอำนาจของผู้บริหารโรงเรียนในการสั่งปิดเรียนได้ หากอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง สำหรับเรื่องการเรียนการสอนแต่ละโรงเรียนมีแนวทางในการทำการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์อยู่แล้ว
ส่วนโรงเรียนที่ยังไม่มีการปิดโรงเรียน ยังจัดการเรียนการสอนก็อยากจะฝากให้มีการคุมเข้ม คัดกรอง เด็กนักเรียนให้ดี รักษาระยะห่างทางสังคมไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน หรือเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะในห้องเรียน สนามเด็กเล่น หรือที่โรงอาหาร แต่หากโรงเรียนใดพิจารณาแล้วมีความเสี่ยงสามารถหยุดทำการเรียนการสอนได้ทันที
อย่างไรก็ตาม จากที่ได้มีการผ่อนปรนมาตรการในการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเรื่องต่างๆ ล่าสุด ตามคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา ที่ 6324/2564 ลงวันที่ 22 มิ.ย. 64 เช่น ร้านอาหาร และเครื่องดื่ม สามารถเปิดนั่งทานที่ร้านได้ นั้น หากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นและมีการระบาดเป็นวงกว้างจะพิจารณาสั่งปิดอีกครั้งได้ทันที ส่วนมาตรการการผ่อนปรนถือเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตปกติประจำได้มากยิ่งขึ้น แต่การใช้ชีวิตปกติประจำวันอาจจะเสี่ยงต่อการระบาดของโรคโควิดได้
ดังนั้น เพื่อไม่ให้ทางจังหวัดเข้ามาคุมเข้มมาตรการต่างๆ ประชาชน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะประชาชน ญาติพี่น้อง ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด พื้นที่เสี่ยง หรือผู้ที่จะเดินทางเข้ามายังจังหวัดนครราชสีมา ขอความร่วมมือให้แจ้งกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ในชุมชน เพื่อประเมินความเสี่ยงก่อนเข้าพื้นที่ ซึ่งหากมีความเสี่ยงจะได้นำตัวไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลและดำเนินการกักตัว ป้องกันการนำเชื้อเข้ามาในชุมชน มาติดประชาชน ญาติพี่น้อง ความร่วมมือของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะลดการแพร่ระบาดของโรคได้
นายกอบชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา วัคซีนมีด้วยกัน 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนแรก เป็นส่วนที่ได้มาจากรัฐบาลซึ่งจังหวัดนครราชสีมาได้รับการจัดสรรประมาณครั้งละ 40,000-50,000 โดสต่อครั้ง ซึ่งก็ได้ทยอยฉีดให้กับประชาชนไปแล้ว ส่วนในรอบเดือนกรกฎาคม 2564 นี้ จะได้รับการจัดสรรตามแผน ประมาณ 70,000 โดส
ในส่วนที่ 2 เป็นวัคซีนทางเลือก คือ วัคซีนซิโนฟาร์ม ที่ทาง อบจ.นครราชสีมา ให้การสนับสนุนขอสั่งซื้อ จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งยังคงรอการจัดสรร อาจจะได้ถึง 1 แสนโดส หรือไม่ถึงก็ได้ เนื่องจากมีความต้องการเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ หากได้วัคซีนมา ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด อบจ. และผู้ที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันพิจารณาจัดสรรไปในพื้นที่อย่างเป็นธรรม ตามความเสี่ยง ของแต่ละพื้นที่ ตามสัดส่วนจำนวนประชากรในพื้นที่ด้วย
สำหรับการที่จะเร่งให้เปิดจังหวัดฯรับนักท่องเที่ยวได้ นั้น ตรงนี้จะมีการพิจารณาหลายๆเหตุผลประกอบด้วย ส่วนระยะเวลา 120 วัน ฉีดวัคซีนให้ครบตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรณ์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากให้เปิดประเทศได้อย่างเสรี เป้าหมายนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชนใน จ.นครราชสีมา หรือต่างพื้นที่ ความร่วมมือภาคเอกชน ภาครัฐ ทุกอย่างต้องช่วยกันตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละที่จะทำได้ อย่างตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ ดูจากส่วนกลางวันหนึ่ง 3,000-4,000 รายแล้ววันนี้ จ.นครราชสีมา ขึ้นไป 20 ราย ฉะนั้น ถ้าเราอยากจะเปิดจังหวัดใน 120 วันได้ ต้องเข้มข้นยิ่งขึ้น ต้องสกัดกั้น ต้องเชิงรุก ต้องขอความร่วมมือมากที่สุด ถ้าร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการ ตนเชื่อว่าเราจะเปิดจังหวัดได้
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ของจังหวัดนครราชสีมา ล่าสุด วันนี้ (23 มิ.ย.) พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น จำนวน 20 ราย พบในพื้นที่อำเภอชุมพวง 1 ราย อำเภอโชคชัย 2 ราย อำเภอด่านขุนทด 2 ราย อำเภอปักธงชัย 1 ราย อำเภอเมืองนครราชสีมา 1 ราย อำเภอวังน้ำเขียว 4 ราย และ อำเภอเสิงสาง 9 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 1,072 ราย รักษาหาย 932 ราย ยังคงรักษา 126 ราย เสียชีวิตสะสมรวม 14 ราย
นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การระดมฉีดวัคซีนตามวาระแห่งชาติจนถึงตอนนี้ จ.นครราชสีมา ฉีดทั้งเข็มแรก และเข็มที่ 2 รวมกว่า 244,222 โดส เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้หรือ 10% ของประชากรกลุ่มเป้าหมาย 2,116,700 ราย ส่วนการฉัดวัคซีนเข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้าเร็วขึ้นจาก 12 สัปดาห์ มาเป็น 8 สัปดาห์นั้น เนื่องจากวัคซีนแอสตร้าฯในเดือนกรกฎาคมนี้ จะผลิตได้มากขึ้น และเร็วขึ้นประมาณ 6-8 ล้านโดส ถ้ามาตามเป้าหมายการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯเข็มที่ 2 ในเขตพื้นที่ระบาดจะขยับมาเร็วขึ้นเป็น 8 สัปดาห์ ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถฉีดเข็มที่ 2 ได้ในระยะเวลา 8-12 สัปดาห์อยู่แล้ว จ.นครราชสีมา ไม่ใช่พื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง ฉะนั้น การฉีดแอสตร้าฯ ยังคงเป็น 12 สัปดาห์อยู่ แต่ถ้าเกิดว่าแอสตร้าฯในเดือนก่อนสิงหาคม-กันยายน มีมามาก ก็อาจจะขยับขึ้นมาได้