เพชรบุรี - ปิดแล้ว! รพ.สนามโรงงานแคล-คอมพ์ฯ พ่อเมืองเพชรบุรีหลั่งน้ำตา ขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ และหน่วยงานที่ร่วมฟันฝ่าวิกฤตของโควิด-19 จนสำเร็จลุล่วง จนถึงระดับที่สามารถควบคุมได้
วันนี้ (17 มิ.ย.) นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นประธานปิดโรงพยาบาลสนาม 1 และโรงพยาบาลสนาม 2 ภายในบริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ต.สระพัง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี
นายภัคพงศ์ กล่าวทั้งน้ำตาว่า นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ของ จ.เพชรบุรี ที่ทุกภาคส่วนได้ระดมสรรพกำลัง ร่วมแรงร่วมใจดำเนินงานเปิดโรงพยาบาลสนาม WE WIN 1 ขนาด 2,400 เตียง และ WE WIN 2 ขนาด 390 เตียง ถือว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งระบบการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ การสนับสนุนสิ่งของบริจาค เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานการณ์อันยากลำบาก ร่วมกันทำงานหนักตลอด 29 วัน จนสำเร็จลุล่วง มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ามารักษาตัวโรงพยาบาลสนามแห่งนี้กว่า 4,400 คน หายและกลับบ้านไปใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข ถือเป็นความสำเร็จ และความภาคภูมิใจที่สุดครั้งหนึ่งของ จ.เพชรบุรี
ขณะที่ นพ.อรรถสิทธิ์ นวะอภิศักดิ์ นายแพทย์ชำนาญการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนาม WE WIN 1 กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดใน จ.เพชรบุรี ครั้งนี้ถือว่ารุนแรงมาก มีผู้ป่วยรายใหม่หลักพันต่อวัน จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในลำดับต้นของประเทศ โดยเฉพาะการระบาดในพื้นที่ อ.เขาย้อย อยู่ในขั้นวิกฤต ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวนมาก ซึ่งมีโรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯ เป็นหน่วยรับผิดชอบบริการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามทั้ง 2 แห่ง คือ โรงงาน 11 รองรับผู้ป่วยคนต่างชาติ จำนวน 2,400 เตียง และโรงงาน 12 รองรับผู้ป่วยคนไทย จำนวน 390 เตียง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. จนถึงวันที่ 17 มิ.ย. รวมเป็นระยะเวลา 29 วัน
นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการ มียอดผู้ป่วยรักษาหายจำหน่ายกลับบ้าน จำนวน 4,402 ราย เป็นคนไทย 464 ราย และคนต่างชาติ 3,938 ราย ซึ่งขณะนี้การแพร่ระบาดและยอดผู้ป่วยลดลง คงเหลือรักษาในวันนี้เพียง 30 ราย เป็นคนไทย 22 ราย คนต่างชาติ 8 ราย จนใกล้ถึงระดับที่ควบคุมได้ แต่พบว่าผู้ป่วยหนักอาการทรุดลงมีเพิ่มขึ้น จึงเสนอพิจารณาปิดดำเนินการโรงพยาบาลสนามทั้ง 2 แห่ง เพื่อให้ทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรอันเป็นกำลังหลักกลับไปตั้งรับสถานการณ์ ณ โรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยหนักและรับส่งต่อจากโรงพยาบาลชุมชุนต่างๆ ตลอดจนรองรับเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป