ประจวบคีรีขันธ์ - เกาะทะลุ แหล่งวางไข่ “เต่ากระ” สัตว์หายากของทะเลอ่าวไทย ล่าสุด พบแม่เตากระขึ้นวางไข่เป็นรังที่ 7 ขณะที่มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม เผยเลี้ยงให้รอดปล่อยสู่ท้องทะเลมา 7 ปีเต็ม
นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก นายภัทร อินทรไพโรจน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเล สยาม ลาดตระเวนการขึ้นวางไข่ของเต่ากระในพื้นที่เกาะทะลุ อ.บางสะพานน้อย พบร่องรอยการขึ้นวางไข่ของแม่เต่ากระอย่างต่อเนื่อง
บริเวณอ่าวในหุบ พิกัด 47 P 560197 E 1223849 N เจ้าหน้าที่จึงสำรวจบริเวณโดยรอบ พบหลุมวางไข่จึงทำการขุดหลุมรังไข่ ทำการย้ายรังไปไว้ในที่ซึ่งปลอดภัย โดยนับเป็นรังที่ 7 มีจำนวนไข่ทั้งหมด 155 ฟอง วัดขนาดรอยพายได้ 50 เซนติเมตร ความกว้างของหลุม 24 เซนติเมตร ความลึกของหลุม 43 เซนติเมตร และทำการเคลื่อนย้ายไข่เต่าไปยังจุดอนุบาล
นายพิชัย กล่าวว่า เกาะทะลุอยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 8 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 1.178 ตารางกิโลเมตร หรือ 736 ไร่ มีความยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร ด้านเหนือของเกาะจะเป็นหน้าผาสูงชันตั้งฉากกับท้องทะเลไล่ระดับมาถึงตอนกลางของเกาะ มีภูเขาระดับความสูง 90 เมตร
"เกาะทะลุ จัดเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ มีทั้งพืชบก พืชทะเล สัตว์ชนิดต่างๆ รวมถึงระบบนิเวศแนวปะการัง และเป็นแหล่งที่เต่ากระขึ้นมาวางไข่ทุกปี ในช่วงเดือน พ.ค.-ต.ค. ปีนี้แม่เต่าขึ้นมาวางไข่เป็นรังที่ 7 ขณะที่เต่ากระเป็นสัตว์ทะเลหายาก เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และจัดอยู่ใน Appendix 1 ของอนุสัญญาไซเตส"
ด้านนายปรีดา เจริญพักตร์ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม กล่าวว่า การขึ้นวางไข่ของเต่ากระ ที่ชายหาดเกาะทะลุ มีมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ด้วยสโลแกน "เลี้ยงให้รอด ปล่อยสู่ท้องทะเล" เพื่อสร้างความตระหนักให้เห็นถึงคุณค่าในการรักษาดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และสัตว์ทะเลหายากโดยเฉพาะ "เต่ากระ" ปีที่ผ่านมา มีแม่เต่ากระขึ้นมาวางไข่ในช่วงเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ จำนวน 5 รัง 792 ฟอง ฟักเป็นตัว 558 ตัว คิดเป็น 70% ทั้งนี้ รวมระยะเวลาในการฟักไข่ประมาณ 66 วัน
ซึ่งที่ผ่านมา ทางมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม ได้ทำงานร่วมกับอุทยานแห่งชาติอ่าวยาม (เตรียมการ) ช่วงแรกที่แม่เต่ากระขึ้นมาวางไข่ ทางเจ้าหน้าที่จะช่วยกันเดินสำรวจ เมื่อพบจะมีการตั้งชื่อแม่เต่ากระเอาไว้ ทั้งแม่ศรีบางสะพาน แม่ศีรีสยาม และแม่เทียนทะเล อีกหลายชื่อ ได้ฝังไมโครชิปเอาไว้ จดบันทึกข้อมูลต่างๆ ก่อนปล่อยลงสู่ทะเลเพื่อเป็นฐานข้อมูลในครั้งต่อไป เมื่อแม่เต่ากระขึ้นมาวางไข่ใหม่ เราจะสแกนดูหากพบรหัสไมโครชิปที่ฝังไว้จะรู้ทันทีว่าเป็นแม่เต่ากระชื่ออะไร หรือหากไม่พบก็อาจเป็นแม่เต่ากระตัวใหม่
ในทุกปีที่มีแม่เต่ากระขึ้นวางไข่ และฟักเป็นตัวแล้ว จะมีขั้นตอนการดูแลจนเมื่อเจริญเติบโตแข็งแรง อายุอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป มีการตรวจสุขภาพ เราจะปล่อยกลับคืนสูท้องทะเลต่อไป บางครั้งนักท่องเที่ยวมาพักผ่อนที่เกาะทะลุ เราจะให้มีส่วนร่วมในการปล่อยลูกเต่ากระ สู่ท้องทะเล เป็นการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์เต่าทะเล และทรัพยากรธรรมชาติ แต่ละปีปล่อยลูกเต่ากระอย่างน้อย 500-1,000 ตัว ขึ้นอยู่กับปริมาณจำนวนการวางไข่ และอัตราการฟัก หากพูดง่ายๆ เกาะทะลุ คือแหล่งวางไข่ของเต่ากระ ของทะเลอ่าวไทย จากข้อมูลและสถิติทางมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม ที่เราเก็บข้อมูลเอาไว้เพื่อให้หน่วยงาน เยาวชน นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ ได้มาศึกษาหาความรู้จากสถานที่จริง