กาฬสินธุ์ - กระทบสองเด้ง สถานการณ์โรคโควิด-19 และ “โรคฝีดาษวัว” หรือ “ลัมปีสกิน” ระบาดในหลายพื้นที่ นอกจากทำเกษตรกรเดือดร้อนแล้ว บรรยากาศการขายเนื้อวัว ร้านขายอาหารอีสาน ลาบ ก้อยซบเซา ลูกค้าไม่กล้าสั่งกิน ด้านชาวบ้านร้องเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ช่วยเหลือด่วน เนื่องจากขาดยารักษาโรคต้องใช้ภูมิปัญญาบรรเทาอาการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสถานการณ์การเกิดโรคระบาดในวัว คือโรคลัมปีสกิน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “โรคฝีดาษวัว” พบว่ามีวัวติดเชื้อโรคดังกล่าวกระจายอยู่ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์หลายอำเภอ นอกจากชาวบ้านเจ้าของเดือดร้อนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการขายเนื้อวัว และร้านขายอาหาร ลาบ ก้อย เมนูอีสานที่ทำจากเนื้อวัว ซึ่งเงียบเหงา และซบเซาเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ รายงานพบวัวป่วยโรคดังกล่าวกระจายใน 9 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ 318 ตัว เสียชีวิต 17 ตัว, อ.ยางตลาด 39 ตัว, อ.กุฉินารายณ์ 34 ตัว เสียชีวิต 3 ตัว, อ.สามชัย 11 ตัว, อ.หนองกุงศรี 4 ตัว, อ.กมลาไสย 3 ตัว, อ.ร่องคำ 3 ตัว, อ.เขาวง 2 ตัว, อ.ท่าคันโท 1 ตัว รวมพบวัวป่วยจำนวน 415 ตัว และเสียชีวิต 20 ตัว ขณะที่ อ.ห้วยผึ้ง อ.ห้วยเม็ก อ.นามน อ.สมเด็จ อ.นาคู อ.ฆ้องชัย อ.ดอนจาน อ.คำม่วง และ อ.สหัสขันธ์ ยังไม่มีรายงานพบวัวป่วยด้วยโรคลัมปีสกินแต่อย่างใด
นางหนูรัก ร่องวารี อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 25 หมู่ 4 บ้านหนองห้าง ต.โนนนาจาน อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ลูกวัวของตนมีอาการป่วยด้วยโรคลัมปีสกินมาตั้งแต่อายุได้ 1 เดือนเศษ ทีแรกตกใจมาก เนื่องจากเกิดตุ่มพองและบาดแผลตามผิวหนังของลูกวัว ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน จึงไม่รู้วิธีการรักษา จากนั้นได้ไปแจ้งผู้นำชุมชนและอาสาปศุสัตว์ และได้รับคำแนะนำให้รักษาตามอาการ โดยนำเปลือกต้นประดู่มาต้มน้ำร้อน จากนั้นนำน้ำต้มเปลือกประดู่มาชโลมตามตัวลูกวัว
ทั้งนี้เป็นการรักษาโรคผิวหนังที่เกิดแก่สัตว์เลี้ยงตามภูมิปัญญาเพื่อป้องกันแมลงและช่วยบรรเทาอาการ แต่อาการยังไม่ดีขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ยังรอความช่วยเหลือ ทั้งยา หรือวัคซีน รวมทั้งคำแนะนำวิธีบำบัดรักษาที่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์
อย่างไรก็ตาม ตนและเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวมีความสงสัยอยู่มากที่เกิดโรคระบาดในวัวเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่เห็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจหรือให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจังเร่งด่วน
ด้านนางศิริพร เงาแสง อายุ 48 ปี แม่ค้าขายอาหารพื้นบ้านอีสาน บริเวณปากทางเข้าเขื่อนลำ บอกว่า ตนเปิดร้านขายอาหารประเภทลาบ ก้อย ต้ม เมนูยอดฮิตของชาวอีสาน โดยการนำเนื้อวัวสดมาเป็นวัตถุดิบหลัก เปิดขายมาเกือบ 30 ปีขายดีต่อเนื่อง แต่ปริมาณการขายเริ่มลดลงหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมา ลูกค้าไม่ค่อยเข้าร้าน แต่จะซื้อห่อไปรับประทานที่บ้านมากกว่า ทำให้เนื้อสดเหลือ ขายไม่หมด ต้องนำมาแปรรูปเป็นเนื้อแดดเดียว และส้มวัว แต่ก็พอขายได้เรื่อยๆ
จากที่เคยรับเนื้อวัวสดจากโรงฆ่าสัตว์เข้าร้านวันละ 50-80 กิโลกรัม ทุกวันนี้เหลือวันละ 40-50 กิโลกรัม แต่ยังต้องมาเจอกับโรคระบาดฝีดาษวัว หรือโรคลัมปีสกินอีก ยิ่งทำให้ลาบ ก้อย ขายได้น้อยลง ทั้งเขียงเนื้อในตลาดสดและผู้ค้ารายย่อยต่างๆ ต่างประสบปัญหาเหมือนกันทั้งหมด คืออาหารประเภทเนื้อวัวขายไม่ได้เลย สำหรับตนยอดขายตกต่ำกว่า 30% เลยทีเดียว
นางศิริพรกล่าวเพิ่มเติมว่า อยากจะฝากไปถึงลูกค้า ผู้นิยมเปิบเมนูลาบก้อยของแซ่บอีสานว่า วัวทุกตัวที่นำไปชำแหละที่โรงฆ่าสัตว์ หรือเนื้อวัวทุกตัวได้รับการรับรองมาตรฐานผ่านการรับรองความปลอดภัยจากปศุสัตว์ทุกตัว จึงเชื่อมั่นได้ว่าจะไม่นำวัวที่มีอาการเจ็บป่วย หรือเป็นโรคใดๆ ไปเชือดที่โรงฆ่าสัตว์แล้วนำมาจำหน่ายเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ทราบว่าโรคลัมปีสกินเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ติดต่อสู่คน ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจในความปลอดภัย