xs
xsm
sm
md
lg

ร้อง รมว.ยุติธรรม สอบขบวนการขายทรัพย์ ส่อมีส่งซิกคนซื้อ-โก่งราคาขายคืนฟันกำไร 100%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น่าน – ตา-หลานคนน่านเดือดร้อนหนัก..หลังกรมบังคับคดี ตามยึดบ้าน/ที่ดินมรดกตกทอดขายทอดตลาด แม้ไม่ใช่ลูกหนี้โดยตรง แถมร้องขอความเป็นธรรมหลายหน่วยงานรวมถึงถวายฎีกา ส่อส่งซิกคนซื้อทรัพย์โก่งราคาขายคืนฟันกำไร 100%


นายสกฤษ์ ธนะคำ อายุ 76 ปี ชาวบ้านในเขตเทศบาลเมืองน่าน เปิดเผยว่า ขณะนี้ครอบครัวเดือดร้อนมาก หลังจากกรมบังคับคดีนำบ้านขายทอดตลาด และมีนายทุนที่ซื้อไป แล้วบังคับให้ครอบครัวซื้อคืนในราคาสูงกว่าที่ซื้อมาจากการขายทอดตลาดถึง 100% ทั้งๆ ที่ครอบครัวร้องขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วว่าบ้านหลังดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับลูกหนี้ เป็นบ้านของตนเองและขอให้ปล่อยทรัพย์คืนให้กับครอบครัว เพราะครอบครัวไม่ได้เป็นลูกหนี้ ไม่ได้เป็นหนี้ใคร บ้านหลังนี้เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่หน่วยงานก็ไม่ลงมาตรวจสอบ ถวายฎีกาไปมีหน่วยงานลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงจากนั้นเรื่องก็เงียบกระทั่งคนที่ซื้อทรัพย์ขายทอดตลาดมาแจ้งให้ทางครอบครัวซื้อคืนหากไม่มี-ไม่ซื้อก็ต้องย้ายออก

นายสกฤษ์ เล่าว่า บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่อยู่มาตั้งแต่สมัยพ่อมาถึงลูกและหลาน ปัจจุบันตนก็พักอยู่อาศัยอยู่กับหลานอายุ 14 ปี 1 คน ซึ่งเดิมบ้านหลังนี้เริ่มทรุดโทรมตามกาลเวลา ตนจึงขอให้ลูกสาวที่ทำงานอยู่ต่างจังหวัดกู้เงินธนาคารมารื้อและสร้างบ้านหลังใหม่

แต่ขณะนั้นลูกสาวเพิ่งเรียนจบยังไม่สามารถกู้เงินกับทางธนาคารได้ จึงนำเรื่องไปปรึกษาเจ้าของบริษัท (นายจ้าง) ที่ลูกสาวทำงานด้วย ซึ่งนายจ้างมีเพื่อนที่อยู่ธนาคารเพราะทำธุรกิจด้วยกัน แนะนำเทคนิคการกู้เงินซึ่งทางพนักงานธนาคารทำกันเป็นประจำ ว่า หากต้องการกู้เงินจริงๆ ก็ต้องให้นายจ้างกู้ให้ โดยทำเป็นสัญญาซื้อ-ขาย และนำที่ดิน-บ้าน ค้ำประกัน

ซึ่งลูกสาวยืนยันว่า สามารถผ่อนชำระได้ จึงตกลงได้ทำสัญญาซื้อ-ขายบ้านระหว่างครอบครัวกับนายจ้างไว้ด้วยว่าหากมีการชำระเงินเสร็จสิ้นแล้วนายจ้างจะโอนกรรมสิทธิ์คืนโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ซึ่งระหว่างการกู้เงินก็ไม่มีปัญหาใดๆ ลูกสาวได้ผ่อนชำระมาตลอดจบครบ เหลือเพียงให้นายจ้างไปปิดบัญชีกับธนาคารและโอนกรรมสิทธิ์คืนเท่านั้น

แต่ระหว่างที่รอให้นายจ้างโอนกรรมสิทธิ์คืน ตนก็ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น จู่ๆ จนท.มาแจ้งว่าจะต้องยึดบ้าน เนื่องจากเป็นทรัพย์ที่มีชื่อนายจ้างเป็นผู้ค้ำประกันบุคคลอื่นที่ถูกศาลฟ้องล้มละลายและลูกหนี้ไม่มีทรัพย์เพียงพอจึงตามยึดของผู้ค้ำประกัน ตนและภรรยา (ขณะนั้นยังมีชีวิตอยู่) ตกใจมากจึงแจ้งให้ลูกสาวทราบ ลูกจึงได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ถอนการยึดทรัพย์

น.ส.รัตนา (ลูกสาว) บอกว่า หลังจากที่ตนเองทราบเรื่องจากพ่อ ก็รีบทำหนังสือร้องไปยังกรมบังคับคดีให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากขณะนั้นไม่สามารถติดต่อนายจ้างได้เพราะยังทำงานในต่างประเทศ แต่ทางกรมบังคับคดีไม่ลงมาตรวจสอบ โดยอ้างว่าไม่ใช่หน้าที่ กรมบังคับคดีมีหน้าที่เพียงตามยึดทรัพย์ที่มีชื่อตามหมายศาลเท่านั้น ตนจึงร้องคัดค้านคำสั่งยึดทรัพย์ แต่กรมบังคับคดีปฎิเสธคำร้อง ตนจึงปรึกษาทนายความและร้องขัดทรัพย์ไปยังศาลล้มละลายกลาง และต่อสู้ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมกลับคืนมาให้กับครอบครัว

“ตลอดกว่าสามปี ได้นำพยานหลักฐานต่างๆ เสนอศาลล้มละลายกลางเพื่อพิสูจน์ว่าบ้านเป็นของครอบครัวตนเองไม่ใช่ของลูกหนี้ ขอให้ศาลปล่อยทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์คืนให้กับตนเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าศาลเห็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและพิสูจน์ว่าบ้านเป็นของเราจริง แต่เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีไม่ยอมปล่อยทรัพย์และขออุทธรณ์โดยอ้างบุคคลใดมีชื่อในเอกสารให้สันนิฐานว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และ ศาลฎีกาไม่รับฎีกาเพราะไม่ประเด็นใหม่”

น.ส.รัตนา บอกว่ากรมบังคับคดีนอกจากจะไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วยังเดินหน้านำทรัพย์ขายทอดตลาด ตนจึงตัดสินใจถวายฎีกาเพื่อขอความเป็นธรรมและขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ทางสำนักราชเลขาฯ ให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดน่าน ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งก็พิสูจน์ว่าบ้านเป็นของครอบครัวตนจริง และให้อัยการจังหวัดลงมาช่วยดูเรื่องคดี ให้เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมประสานมาเพื่อประสานความช่วยเหลือ ขณะที่อธิบดีกรมบังคับคดีแจ้งมาว่าจะตรวจสอบเรื่องให้แต่ก็เงียบหายไป บางส่วนแจ้งกลับมาแต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย

ระหว่างที่อยู่ในขบวนการขายทอดตลาด ซึ่งตั้งราคาขายไว้สูงถึงสองล้านกว่า อัยการจังหวัดฯ แนะนำให้รอจนกว่าจะมีการขายทอดตลาดรอบสุดท้าย เพราะทรัพย์อยู่ในชุมชนหมู่บ้านดั้งเดิม ไม่ใช่ย่านธุรกิจใดๆไม่น่าจะมีคนเข้าซื้อ ให้ตนเองรอจนกว่าจะมีการขายทอดตลาดรอบสุดท้าย หากไม่มีคนมาซื้อตามที่คาดไว้จริง ให้ทำหนังสือถึงกรมบังคับคดีเพื่อขอซื้อคืนในราคาที่ถูกลงกว่าที่ตั้งราคาขายไว้ เพื่อครอบครัวจะได้ไม่ได้รับความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นจากเดิม

แต่ปรากฏว่าในการขายทอดตลาดรอบสุดท้ายกลับมีนายชาญชัย (ทราบภายหลัง) ชาว กทม.เข้าไปซื้อทรัพย์ ซึ่งเมื่อทราบว่ามีคนซื้อตนพยายามสอบถามข้อมูลผู้ซื้อจากกรมบังคับคดีเพื่อติดต่อขอให้นายชาญชัยถอนการซื้อ แต่ไม่สามารถขอได้เนื่องจากไม่มีชื้อในกรรมสิทธิ์ จึงประสานไปยังเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมที่แจ้งว่าจะประสานงานช่วยเหลือ เพื่อขอข้อมูลผู้ซื้อ ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมกลับบอกว่าอยู่คนละหน่วยงานไม่สามารถขอให้ได้และจะลองประสานงานให้ แต่สุดท้ายก็ไม่มีการติดต่อกลับมาอีกเลย

กระทั่งเวลาผ่านไป 2 เดือนเศษ ผู้ซื้อได้เดินทางไปที่บ้าน (จังหวัดน่าน) บอกกับพ่อของตนว่า..ได้ซื้อบ้านหลังนี้ไว้แล้วในราคา 2.5 ล้านบาท และขอให้เตรียมตัวย้ายออกจากบ้าน ซึ่งพ่อตกใจมากจึงบอกตนให้คุยกับนายชาญชัย และตนได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง และบอกว่าอย่างไรก็ต้องเอาบ้านกลับคืนมา ซึ่งนายชาญชัยได้แจ้งว่าหากต้องการซื้อคืนต้องซื้อในราคา 2.8-3 ล้านบาท ซึ่งขณะนั้นตนเองไม่มีข้อมูลว่านายชาญชัยซื้อบ้านจากการประมูลมาในราคาเท่าไหร่ จึงได้แต่เพียงรับทราบราคาไว้

ต่อมาตนได้ประสานขอให้นายจ้างส่งเอกสารมอบอำนาจมาให้และเร่งดำเนินการขอข้อมูลผู้ซื้อจากกรมบังคับคดี จนทราบข้อมูลว่า นายชาญชัยซื้อบ้านจากการขายทอดตลาดมาในราคา 1.56 ล้านบาท แต่จะนำมาขายคืนให้ทางครอบครัวของตนซึ่งกำลังเรียกร้องขอความเป็นธรรมอยู่ในราคาสูงถึง 2.8-3 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคาที่ซื้อมาถึง100% โดยไม่ยอมลดราคา


น.ส.รัตนา กล่าวเพิ่มเติมว่า บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่อยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ รอบบ้านจะมีผลหมากรากไม้ที่สามารถเก็บขายได้ตลอดมา โดยเฉพาะละมุดแต่ละต้นมีอายุกว่าร้อยปีก็เก็บขายเป็นรายได้ครอบครัวอีกทางหนึ่ง ตั้งแต่ตนเองยังเรียนหนังสือส่วนหนึ่งก็คือมาจากสิ่งเหล่านี้ที่ผูกพันจนถึงปัจจุบัน พ่อแม้จะมีอายุมากแต่ก็ยังเก็บละมุดขายเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายเล็กๆ น้อยนอกเหนือจากที่ตนเองส่งให้และได้เบี้ยผู้สูงอายุเพราะไม่ต้องการเป็นภาระลูก

จากเรื่องที่เกิดขึ้นตนได้สอบถามทนายความและผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจการซื้อ-ขายที่ดิน จึงทราบว่า ที่ผ่านมา จะขบวนการสมรู้ร่วมคิด ระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรู้ข้อมูลทรัพย์ที่ถูกยึดขายทอดตลาดที่มีปัญหาและจะแจ้งให้นายทุนเข้ามาช้อนซื้อเพื่อนำไปขายทำกำไรกับเจ้าของทรัพย์เดิม

ซึ่งตนอยากร้องเรียนไปยัง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกระทรวงยุติธรรม ให้เข้ามาตรวจสอบกระบวนการนำทรัพย์ออกจำหน่ายของกรมบังคับคดี ว่าทำไมถึงนำทรัพย์ยังมีการร้องเรียนออกขายโดยปฏิเสธการตรวจสอบ และให้ตรวจสอบว่าผู้ซื้อมีเหตุจูงใจใดที่ต้องการเข้าไปซื้อบ้านหลังดังกล่าว

และที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ทราบดีเมื่อขายทรัพย์ออกไปแล้วจะต้องมีปัญหาระหว่างขึ้นระหว่างผู้ร้องกับผู้ซื้อ ทำไมถึงเร่งนำออกขายทำไมถึงไม่ให้มีการเคลียร์ปัญหาให้เสร็จสิ้นก่อน ซึ่งการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีแม้จะอ้างว่าไม่มีหน้าที่ตรวจสอบ แต่เมื่อมีผู้ร้องก็ต้องให้ความยุติธรรม

ซึ่งที่ผ่านมา จะเห็นข่าวมาโดยตลอดว่า บางรายลูกหนี้ติดหนี้เพียงเล็กน้อยหลักร้อยหลักพันแต่ยึดทรัพย์ซึ่งเป็นบ้านที่อยู่อาศัยนำไปขายทอดตลาดจนเจ้าของบ้านได้รับความเดือดร้อน หรือการนำทรัพย์ที่มีปัญหาขายทอดตลาดเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนายทุนเพียงให้พ้นจากหน้าที่แต่ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้เกี่ยวข้อง

“ส่วนตัวอยากถามด้วยว่าเมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้ปล่อยทรัพย์ก็แสดงให้เห็นว่าข้อเท็จจริงที่นำสืบในชั้นศาลมีมูล ประกอบกับครอบครัวไม่ใช่ลูกหนี้ ไม่ได้มีหนี้สินใดๆ กับเจ้าหนี้ สิ่งที่ควรคืนให้กับครอบครัวของตนมันควรเป็นความยุติธรรม ไม่ใช่ให้หาเงินจำนวนมากมาซื้อบ้านของตัวเองคืนอีกใช่หรือไม่”


กำลังโหลดความคิดเห็น