อุทัยธานี - ผอ.โรงพยาบาลทัพทันเข้าปรึกษาตำรวจจ่อแจ้งความดำเนินคดีผู้ป่วยโควิดปกปิดข้อมูลจนต้องปิดห้องฉุกเฉิน 3 วัน บุคลากรแพทย์โดนกักตัวหลายราย พบเป็นทั้ง อสม.-ปธ.ชุมชน แต่ไม่ยอมบอกไปขับแท็กซี่ กทม.ก่อนป่วย
วันนี้ (17 พ.ค. 64) นายแพทย์ วศิน โพธิ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทัพทัน พร้อมด้วย นายอนุชา พัสถาน นายอำเภอทัพทัน สาธารณสุขอำเภอทัพทัน และกำนันตำบลทัพทัน ได้เข้าขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ทัพทัน
กรณีที่จะดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีชายอายุ 59 ปี ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายที่ 23 ของจังหวัดอุทัยธานี มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และประธานชุมชนในพื้นที่ อ.ทัพทัน ปกปิดข้อมูลไทม์ไลน์ในวันที่เข้ารับการตรวจรักษาเมื่อ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนเข้าสู่การแอดมิตฉุกเฉินที่โรงพยาบาลในวันที่ 14 พฤษภาคม ด้วยอาการหายใจเหนื่อยหอบและภายหลังคณะแพทย์พยาบาลตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ก่อนได้ส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอุทัยธานีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม
หลังตรวจพบเชื้อแล้วผู้ป่วยรายนี้จึงได้เปิดเผยข้อมูลไทม์ไลน์ว่า ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน ถึง 15 พฤษภาคมได้เดินทางจากจังหวัดอุทัยธานีไปทำงานขับรถแท็กซี่ที่กรุงเทพมหานคร ก่อนเดินทางกลับบ้านในพื้นที่หมู่ 1 ต.ทัพทัน อ.ทัพทัน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม โดยรถยนต์ส่วนตัว พักอาศัยอยู่กับภรรยา ลูกสาว และเพื่อนของลูกสาว
จากนั้นเริ่มมีอาการแสบคอ ปวดเมื่อย ปวดท้อง ปวดหลัง โดยวันที่ 11 พฤษภาคม เวลา 19.00 น. ภรรยาได้ขี่รถจักรยานยนต์พาไปหาหมอที่คลินิกแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.ทัพทัน โดยภรรยาได้แวะซื้อข้าวสารและผลไม้ วันที่ 12 พฤษภาคม เวลา 19.00 น. เริ่มมีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ เจ็บคอ ภรรยาจึงขี่รถจักรยานยนต์พามาตรวจที่โรงพยาบาลทัพทัน และเดินทางกลับบ้านพัก
กระทั่งวันที่ 14 พฤษภาคม เริ่มมีอาการหายใจเหนื่อยหอบ ภรรยาจึงโทรศัพท์ตามรถ EMS ของเทศบาลตำบลทัพทันมารับที่บ้านพักเพื่อส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทัพทันอีกครั้ง จนเข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรคและส่งตรวจหาเชื้อ และพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ก่อนถูกนำตัวส่งต่อที่โรงพยาบาลอุทัยธานี เข้ารักษาตัวที่ห้องแยกโรค โดยมีผู้สัมผัสสุ่มเสี่ยง HR 15 ราย LR 11 ราย
อนึ่ง การเข้าปรึกษาเพื่อที่จะดำเนินการแจ้งความในครั้งนี้เพื่อให้เกิดเป็นกรณีตัวอย่าง และป้องปรามในอนาคต สร้างความตระหนักแก่ผู้ป่วยที่จะมาโรงพยาบาล ไม่ให้ปกปิดข้อมูลต่อแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขซ้ำขึ้นอีก
เนื่องจากการปกปิดประวัติเสี่ยงโควิดของผู้ป่วยรายนี้ทำให้ทางโรงพยาบาลทัพทันต้องปิดให้บริการห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินชั่วคราวเป็นระยะเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 16-18 พฤษภาคม 2564 เพื่อทำการฆ่าเชื้อ และการปกปิดข้อมูลไทม์ไลน์ของผู้ป่วยในครั้งนี้ยังทำให้บุคลากรทางการแพทย์หลายรายต้องถูกกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วันไปด้วย
นอกจากนี้ ยังส่งผลทำให้เกิดความล่าช้าในการควบคุมโรค และอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดในพื้นที่ครั้งใหญ่ได้