xs
xsm
sm
md
lg

โคราชสั่งปิด! รง.กุนเชียง-ศูนย์จำหน่าย หลังแพร่โควิดไม่หยุดลาม 5 อำเภอ ผวาซ้ำรอย จ.สมุทรสาคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชสั่งปิดโรงงานกุนเชียงชื่อดังทั้ง 2 แห่งพร้อมศูนย์จำหน่ายสินค้า 14 วัน หลังกลายเป็นคลัสเตอร์แพร่เชื้อโควิดไม่หยุดกระจาย 5 อำเภอ ติดเชื้อแล้ว 24 ราย ผวาระบาดซ้ำรอย จ.สมุทรสาคร ขณะผู้ว่าฯ รุดเยี่ยม ปชช. 3 หมู่บ้านถูกสั่งปิด ลงมือผัดกะเพราราดข้าวเสิร์ฟเอง เผยเพิ่มจุดฉีดวัคซีนเป็น 51 แห่ง เริ่มฉีด 2 กลุ่มเสี่ยง 24 พ.ค.นี้ ล่าสุดพบป่วยรายใหม่ 7 ราย ยอดสะสม 792 ราย

ช่วงบ่ายวันนี้ (14 พ.ค.) นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมคณะได้เดินทางลงพื้นที่บ้านวัง ม.3 ต.บ้านวัง อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา นำสิ่งขอวถุงยังชีพเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 200 ชุด ไปมอบแก่ชาวบ้านที่ถูกกักตัวและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ ปิดหมู่บ้านบ้านวัง ม.3 ต.บ้านวัง อ.โนนไทย หลังจากพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากการแพร่ระบาดจากคลัสเตอร์โรงงานกุนเชียงชื่อดังในเขต อ.เมืองนครราชสีมา จำนวน 5 ราย โดยทางจังหวัดได้สั่งปิดหมู่บ้านดังกล่าวเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-24 พ.ค.นี้ มีราษฎรในหมู่บ้านดังกล่าวจำนวน 127 หลังคาเรือน รวม 462 คน โดยในพื้นที่ อ.โนนไทยพบผู้ติดเชื้อ 11 ราย รักษาหายแล้ว 6 ราย


นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มียอดผู้ติดเชื้อลดลง วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 ราย พบใน อ.ชุมพวง 5 ราย มาจากคลัสเตอร์โรงงานกุนเชียง พบใน อ.ขามสะแกแสง 1 ราย และ อ.ด่านขุนทด 1 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 792 ราย รักษาหาย 485 ราย ยังรักษา 302 ราย เสียชีวิตสะสม 5 ราย

ส่วนโรงพยาบาลสนาม มีผู้ป่วย 9 ราย แบ่งเป็นชาย 4 ราย หญิง 5 ราย คงเหลือเตียงว่างใน รพ.สนาม 191 เตียง และวางแผนปิด รพ.สนามเป็นการชั่วคราวในวันที่ 16 พ.ค. 64 นี้ เนื่องจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยลงและเตียงในโรงพยาบาลมีเพียงพอในการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยไม่มีการย้ายของกลับ และเรื่องการจัดเวรบุคลากรจะให้เป็นแบบสแตนด์บายไปอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้ รพ.สนามพร้อมเปิดดำเนินงานได้ทันทีในกรณีที่สถานการณ์การระบาดรุนแรงขึ้น


ทั้งนี้ การควบคุมการระบาดของโรคต้องทำควบคู่ไปกับการทำให้ประชาชนได้รับวัคซีนโควิด-19 โดยเร็วทุกกลุ่ม ซึ่งจากเดิมที่กำหนดจุดไว้ 39 จุดที่จะให้บริการฉีดวัคซีน ตอนนี้ได้เพิ่มเป็น 51 จุดแล้ว เพื่อให้วัคซีนถึงประชาชนทุกพื้นที่ โดยในวันที่ 24 พ.ค.นี้จะเริ่มฉีดให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่มก่อน คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง โดยประชาชนทั่วไปจะเริ่มฉีดในวันที่ 1 มิ.ย. 64 พร้อมกันทั้ง 51 จุด หากวัคซีนมีเพียงพอ ดังนั้น จึงอยากให้ประชาชนทั่วไปรีบลงทะเบียนเพื่อจองคิวในการรับการฉีดวัคซีนได้ที่ อสม. รพ.สต หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน

ต่อมาเวลา 14.00 น. นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เดินทางต่อไปที่บ้านหนองแหน และบ้านหนองแหนพัฒนา ริมถนนมิตรภาพ ต.ธารปราสาท อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนที่ถูกกักตัว พร้อมลงมือประกอบอาหารผัดกะเพราหมูสับหอมหัวใหญ่ราดข้าวไข่ดาว จำนวน 200 กล่อง ให้แก่ประชาชน ซึ่งในพื้นที่ อ.โนนสูงมีผู้ติดเชื้อ 26 ราย รักษาหายแล้ว 7 ราย


ด้าน นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงการแพร่ระบาดของคลัสเตอร์โรงงานผลิตกุนเชียงชื่อดังว่า จากการลงพื้นที่สอบสวนโรค พบว่าในโรงงานผลิตกุนเชียง ต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา มีจุดสัมผัสร่วมหลายจุดที่ทำให้สามารถแพร่กระจายโรคได้อย่างรวดเร็ว ตรงนี้ได้แนะนำทางโรงงานให้ทำความสะอาดในเบื้องต้นแล้ว โดยโรงงานแห่งนี้พบพนักงานฝ่ายผลิตเป็นคนไข้รายแรกอยู่โรงงานที่ 2 ผู้ป่วยรายที่ 654 ของจังหวัดฯ ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ทำงานอยู่ในส่วนของปรุงน้ำราด และมาพบผู้ป่วยที่โรงงานที่ 1 (รายที่ 699) ตรวจพบติดเชื้อวันที่ 7 พ.ค. ทำงานอยู่ในโรงหมู มีกลุ่มเสี่ยงสูง 31 คน

จากนั้นพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในห้องดังกล่าวอีก 13 ราย จากทั้งหมด 31 คน ส่วนอีก 18 รายส่งต่อ รพ.สต.ใกล้บ้านในการกักตัวเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง กลุ่มนี้ไม่ให้มาทำงานตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. ในห้องนี้ตรวจพบเชื้อเป็นระยะๆ คือต้องตรวจหลายรอบจึงจะพบ เพราะตรวจในวันแรกไม่พบ และผู้ป่วยที่ทำงานในห้องนี้มี 2 คนที่ทำให้ระบาดไปในครอบครัวคือที่ อ.โนนไทย และผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการกระจายไปหลายอำเภอ โดย อ.โนนไทยนำไปติดสามี และน้องสาว


การสอบสวนยังพบอีกว่า ในห้องทำงานบรรจุภัณฑ์อีกห้องหนึ่งที่ไม่ใช่โรงงานกุนเชียง แต่เป็นผลิตภัณฑ์อีกชนิดของทางโรงงาน มีทั้งหมด 91 คน พบคนป่วยโควิดอีก 3 ราย และห้องบรรจุผลิตภัณฑ์อีกห้องหนึ่งที่อยู่ถัดกันก็พบอีก 3 ราย และพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีก 17 ราย จากการสอบสวนโรคจะพบว่า โรงงานที่ 1 คือผู้ป่วยรายที่ 749, 750 และ 715 ทำงานในโรงงานบรรจุภัณฑ์ทั้ง 3 ห้องนั้นเป็นชาว ต.บ้านวัง อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา และมีการเดินทางโดยรถโดยสารที่ตรงกับช่วงเวลาผู้ป่วยใน อ.ด่านขุนทด เดินทาง ซึ่งอาจเชื่อได้ว่าทั้ง 3 ติดเชื้อมาจากการสัมผัสโดยการนั่งรถโดยสารคันเดียวกันกับผู้ป่วยโควิดที่ อ.ด่านขุนทด จึงทำให้ติดเชื้อมาและแพร่สู่คนอื่นในโรงงานกุนเชียงแต่ก็ยังหาแหล่งที่มาของโรคที่ชัดเจนไม่ได้

สำหรับการกระบาดในโรงงานที่ 2 ผู้ป่วยรายที่ 782 ที่เพิ่งเจอเชื้อในวันนี้ (14 พ.ค.) เป็นรายสำคัญมากโดยเป็นชาว อ.ด่านขุนทด ซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานอนามัยในการตรวจร่างกาย ตรวจความเรียบร้อยตรวจเล็บ ตรวจผมและตรวจความเรียบร้อยของชุดทำงานพนักงานทุกคนก่อนให้เข้าในพื้นที่บรรจุภัณฑ์ซึ่งมีการสัมผัสกับทุกคน ตอนแรกคนนี้คิดว่าตัวเองไม่เสี่ยงเลยจึงไม่เคยตรวจ แต่ทางโรงงานแจ้งพนักงานว่าถ้าจะเปิดโรงงานในวันที่ 15 พ.ค.นี้พนักงานทุกคนจะต้องไปตรวจร่างกายและเอาผลมายืนยันก่อน จึงไปตรวจและพบเชื้อซึ่งมีค่ากระจายเชื้อค่อนข้างสูง โดยการไปตรวจนั้นทางโรงงานได้ใช้รถตู้พาพนักงานไปตรวจและเวียนรับพนักงานประมาณ 40 คนไปตรวจ ซึ่งมีหลายแผนกที่ไปตรวจพร้อมกันและโดยสารรถคันเดียวกัน จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วง


โดยคลัสเตอร์นี้มีการกระจายเชื้อไปแล้ว 5 อำเภอ คือ อ.เมืองนครราชสีมา มากสุด, อ.ด่านขุนทด, อ.ชุมพวง, อ.สูงเนิน และ อ.ขามทะเลสอ มีผู้ติดเชื้อโควิดแล้วรวม 24 คน ซึ่งการตรวจเชื้อวันแรกจะไม่พบ ส่วนมากจะพบเป็นวันที่ 5 และการเข้าไปตรวจสอบพนักงานที่สัมผัสเสี่ยงสูงทำค่อนข้างยากเพราะพนักงานที่นี่มี 800 คน ทำงานเป็นรายวันที่ไม่ได้ขึ้นอยู่ในทะเบียนของโรงงาน

ทั้งนี้ ลักษณะการกระบาดของคลัสเตอร์โรงงานผลิตกุนเชียงจะคล้ายๆ กับที่ จ.สมุทรสาคร ลักษณะอย่างนี้เราเรียกว่า “รังโรค” คือคนติดไปทั่วแล้ว การแยกเสี่ยงสูงต่ำทำได้ยาก จึงได้เสนอในที่ประชุมขอให้ปิดโรงงานดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิต และศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ ถ.มิตรภาพ ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.-28 พ.ค. 2564 และให้ตรวจโรคพนักงานทุกคนแบบ 100% รวม 2 ครั้ง เพื่อตัดวงจรการระบาดของคลัสเตอร์ดังกล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น