บุรีรัมย์- สสจ.บุรีรัมย์ แจงดรามาคำสั่งกก.โรคติดต่อจังหวัดฯ บังคับฉีดวัคซีนฝ่าฝืนเจอโทษทั้งจำและปรับ ชี้เน้นใช้กับกลุ่มบุคคลที่ผ่านการประเมินว่ามีความเสี่ยงแพร่เชื้อโควิด-19 เพื่อหวังสร้างความภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดประสิทธิภาพ ส่วนผู้ไม่เสี่ยงหรือมีโรคประจำตัวแจ้งไม่รับวัคซีนได้ ขณะพ่อค้าขายปลาเห็นด้วยกับกฎเหล็กเพื่อความปลอดภัยส่วนรวม
วันนี้ (14 พ.ค.) นพ.พิเชษฐ พืชขุนทด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ออกมาชี้แจงกรณีที่ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ออกคำสั่งเรื่อง การป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) พ.ศ.2564 ซึ่งเนื้อหาสำคัญของประกาศฉบับนี้ คือ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่เข้าข่ายแพร่เชื้อหรือรับเชื้อต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งหากฝ่าฝืนคำสั่งต้องระวังโทษทั้งจำคุก ทั้งปรับ
โดยใจความสำคัญของคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อดังกล่าว มีดังนี้ 1.เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือบุคคลที่มาปฏิบัติงานในจังหวัดบุรีรัมย์ และหรือพักอาศัยในจังหวัดบุรีรัมย์ ทำการประเมินตนเองตามแบบประเมินความเสียงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จังหวัดบุรีรัมย์ ที่กำหนดตามเอกสารแนบท้ายาคำสั่งนี้ ต่ออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)ในชุมชน/หมู่บ้าน ที่ท่านพักอาศัยอยู่ โดยกระบวนการ อสม.เคาะประตูบ้าน หรือผ่านระบบออนไลน์ ในฐานข้อมูลกลางจังหวัดบุรีรัมย์ สำหรับบริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือผ่านศูนย์ประสานงานรับบริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของโรงพยาบาล/โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้าน เกี่ยวกับความเสียงการติดเชื้อฯ ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.2564 ถึงวันที่ 31 พ.ค. 2564 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารสุขในพื้นที่จัดกลุ่มการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2.ในกรณีที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เจ้าหน้าที่สาธารสุขตรวจพบหรืออาจตรวจพบว่าบุคคลในหรือบุคคลดังกล่าวในข้อ 1 เป็นผู้ที่มีความเสี่ยง อาจมีความเสี่ยงที่จะติดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เจ้าพนักงานนั้นมีอำนาจสั่งให้ผู้ที่มีความเสี่ยง อาจมีความเสี่ยงที่จะติดโรคนั้น ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อฯ ตามวัน เวลา และสถานที่ซึ่งเจ้าพนักงานนั้นกำหนด เพื่อป้องกันมิให้โรคคิดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่หรืออาจแพร่ออกไป
3.หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามข้อ 1 มีโทษตามนัยมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคิกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามข้อ 2 มีโทษตามนัยมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และอาจมีความผิดตามมาตร 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.พิเชษฐ พืชขุนทด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นมติของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ มีเป้าหมายหลักเพื่อต้องการให้คนบุรีรัมย์ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่พำนัก อาศัย หรือทำงานอยู่ในพื้นที่บุรีรัมย์ ให้ลงทะเบียนแสดงความจำนงตามช่องทางที่จัดทำขึ้นว่าต้องการจะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งหากไม่ทำการฉีดวัคซีนตามจำนวนที่กำหนดไว้ ในเรื่องของภูมิคุ้มกันหมู่ก็จะไม่เกิดขึ้น และการควบคุมการระบาดก็จะไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาการระบาดก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีน ดังนั้นคณะกรรมการโรคติดต่อจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นเพื่อระงับยับยั้งการระบาดให้เร็วที่สุด
ส่วนที่เกิดกระแสดรามา ว่า คนที่ไม่ฉีดวัคซีน แล้วจะมีความผิดตามคำสั่งดังกล่าวนั้น ขอชี้แจงว่าเป็นการเน้นบังคับใช้กับบุคคลที่ผ่านการประเมินจากเจ้าหน้าที่แล้วว่าเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงจะไปแพร่เชื้อกับคนอื่น เช่น คนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยแต่ไม่ยอมฉีดวัคซีนก็สามารถใช้คำสั่งดังกล่าวได้ แต่หากคนที่เจ้าหน้าที่ประเมินแล้วไม่ได้มีความเสี่ยง ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมีเหตุผลจำเป็นที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนสามารถแจ้งความประสงค์ไม่รับการฉีดได้เช่นกัน
ขณะที่พ่อค้าขายปลาในตลาดสดเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ กล่าวว่า เห็นด้วยที่มีการออกคำสั่งบังคับให้ผู้ที่มีความเสี่ยงฉีดวัคซีนโควิด-19 เพราะเชื่อว่าสามารถลดการแพร่กระจายเชื้อและเพื่อความปลอดภัยของคนส่วนรวม ส่วนตัวก็ไปฉีดวัคซีนเข็มแรกมาแล้ว ไม่ได้มีผลข้างเคียงอะไรยังสามารถประกอบอาชีพและใช้ชีวิตตามปกติ