xs
xsm
sm
md
lg

ผวจ.ฉะเชิงเทราสั่งขยายเวลาคุมระบาดโควิด-19 หลังตัวเลขผู้ป่วยใหม่ยังพุ่งสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา - ผวจ.ฉะเชิงเทรา ออกคำสั่งขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19  ไปจนถึงวันที่ 24 พ.ค.2564 หลังสถานการณ์ในพื้นที่ยังรุนแรง ซ้ำวันนี้ยอดผู้ป่วยใหม่พุ่งถึง 25 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.53 น. วันนี้ (7 พ.ค.) นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีคำสั่งด่วนที่สุดที่ ฉช.0032/ว.2756 ลงวันที่ 7 พ.ค.2564 แนบท้ายคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ 23/2564 ให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ที่กำลังจะหมดอายุในวันที่ 10 พ.ค.ออกไปอีกจนถึงวันที่ 24 พ.ค.นี้

โดยให้ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เช่น โต๊ะสนุกเกอร์ สนามฝึกซ้อมมวย สนามฝึกการต่อสู้ต่างๆ สนามเด็กเล่นสวนสนุก ร้านเกม สระว่ายน้ำ โรงภาพยนตร์ ฟิตเนส สนามกีฬาในอาคาร กวดวิชา อาบอบนวด สปาสมุนไพร สถานรับเลี้ยงเด็กและคนชรา สถานที่จัดเลี้ยง การสักร่างกาย และศูนย์พระเครื่อง


หลังอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ยังมีอยู่สูง โดยในวันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึง 25 ราย ส่งผลให้การแพร่ระบาดระลอกใหม่ จ.ฉะเชิงเทรา มีผู้ป่วยสะสมมากถึง 437 ราย เสียชีวิตแล้ว 3 ราย และเมื่อรวมกับการแพร่ระบาดในรอบแรก และระลอกที่ 2 ทำให้ จ.ฉะเชิงเทรา มีผู้ป่วยติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 486 ราย เสียชีวิตรวม 4 ราย

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ใน จ.ฉะเชิงเทรา มีลักษณะการระบาดจากคนในครอบครัวที่มีผู้เข้าไปเสี่ยงสัมผัสต่อโรคและนำพาเชื้อเข้ามาสู่บุคคลในบ้าน รวมทั้งการระบาดจากกลุ่มเพื่อนสู่คนในกลุ่มเดียวกัน และการร่วมงานสังคมตามธรรมเนียมประเพณีพื้นบ้าน เช่น งานศพ งานบวช และการเดินทางไปร่วมงานแต่ง

ตลอดจนผู้ทำการค้าที่แพร่เชื้อสู่ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ อีกทั้งยังพบการติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสถานพยาบาลขนาดเล็ก เช่น รพ.สต. และ รพ.ประจำอำเภอพื้นที่ห่างไกล


และยังมีกลุ่มของการระบาดซ้ำซากภายในเรือนจำกลาง จ.ฉะเชิงเทรา ของผู้ต้องขังแต่ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าประหลาดใจ คือ กลุ่มของคนเก็บหาของป่าขายและรับจ้างใช้แรงงานในชนบท พื้นที่ ต.ทุ่งพระยา อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ที่ได้รับเชื้อแล้วไม่แสดงอาการ

โดยเชื้อมีการฝังตัวอยู่ในร่างกายได้เป็นเวลานาน และมักตรวจหาเชื้อไม่พบในครั้งแรกจนต้องมีการตรวจหาเชื้อซ้ำใหม่อีกไม่น้อยกว่า 2 ครั้งและพบเชื้อในที่สุด ซึ่งอาจเป็นผลเสียต่อการควบคุมโรคที่ทำให้เชื้อเข้ามาฝังตัวอยู่ภายในร่างกายของบุคคลเหล่านี้ได้เป็นเวลานาน และสามารถที่จะแพร่กระจายเชื้อต่อไปยังบุคคลอื่นในสังคมได้ในวงกว้าง




กำลังโหลดความคิดเห็น