เชียงราย - นักวิจัย ม.แม่ฟ้าหลวงทำสำเร็จ..ใช้เทคโนโลยีนาโนพัฒนา Nano Guard สำเร็จ ดักจับ/ฆ่าไวรัสโควิด-19 ตัวคล้ายมงกุฎขนาด 125 นาโนเมตร แถมกันฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 สูงสุด 99% พร้อมถ่ายทอดเอกชนผลิตเชิงพาณิชย์ต่อ
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย ได้เผยแพร่ชุด "ผู้พิทักษ์ปอดของคนไทย" ผลงานวิจัยหน้ากากอนามัยที่ผลิตจากวัสดุและเทคโนโลยีแบบไหนที่จะปกป้องผู้คนได้ ทั้งจากไวรัสโควิด-19 และฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นวิกฤตสุขภาพของผู้คนในเวลานี้ และหน้ากากอนามัยเป็นปัจจัยสำคัญช่วยลดความเสี่ยงได้
ผศ.ดร.ณัฐกานต์ สร้อยกาบแก้ว หัวหน้าศูนย์วิจัยวัสดุนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน มฟล. ได้นำนักวิชาการและนักศึกษาทำการศึกษาวิจัย เริ่มจากรายงานการวิจัยที่ระบุว่าไวรัส COVID-19 มีรูปร่างคล้ายมงกุฎ มีขนาดประมาณ 125 นาโนเมตร (Nanometer) จึงมีแนวคิดว่าผลิตหน้ากากที่มีชั้นกรองหรือรูกรองที่ขนาดเล็กกว่า 125 นาโนเมตร (Nanometer) เพื่อดักจับไวรัสนี้ไว้ รวมทั้งกรณีไวรัสสามารถอยู่รอดบนพื้นผิวต่างๆ ได้หลายชั่วโมงหรือเป็นเวลาหลายวันตามแต่สภาวะอากาศ จึงเพิ่มตัวอนุภาค Nano Silver เข้าไป กระทั่งพัฒนาเป็น Nano Guard หน้ากากชั้นกรองโครงข่ายเส้นใยนาโนพอลิเมอร์ขึ้นมาได้
“เมื่อชั้นกรอง Nano Guard ดักไวรัสนี้ไว้ อนุภาค Nano Silver ก็สามารถฆ่าเชื้อไวรัสเหล่านี้ได้”
ผลการทดสอบพบว่าหน้ากาก Nano Guard ดังกล่าวได้รับการยืนยันว่าเหมาะกับคนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะสัมผัสกับเชื้อไวรัส COVID-19 หรือเหมาะกับบุคคลที่จะต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสกับไวรัส COVID-19 นอกจากนี้ หน้ากาก Nano Guard ยังมีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM 2.5 ได้มากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งดีกว่าหน้ากากอนามัยทั่วไป
อย่างไรก็ตาม การผลิตหน้ากาก Nano Guard ขณะนี้ยังอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการใช้เทคนิค Electrospinning ซึ่งทำได้ช้า เนื่องจากว่าเครื่องผลิตของมหาวิทยาลัยฯ มีขนาดเล็กมีกำลังการผลิตต่ำ หากต้องการขยายกำลังการผลิตจะต้องใช้เครื่องที่มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น-มีเทคโนโลยีหลายหัวพ่น ก็จะทำให้กำลังการผลิตสูงขึ้นและทำให้หน้ากาก Nano Guard มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ ซึ่งทางศูนย์วิจัยฯ มีความพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนหรือว่าอุตสาหกรรมเพื่อที่จะผลิตและจำหน่ายต่อไป
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยวัสดุนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนเป็นศูนย์วิจัยที่มีเป้าหมายที่จะพัฒนาวัสดุนวัตกรรมเพื่อที่จะตอบโจทย์แก้ปัญหาความท้าทายในด้านความยั่งยืน ประเด็นแรกก็จะเป็นเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การพัฒนาวัสดุก่อสร้าง ประเภท Geopolymers หรือว่า Glass-Crete เป็นวัสดุที่มีวัสดุตั้งต้นทำมาจากขยะอุตสาหกรรมหรือว่าขยะจากชุมชน
ประเด็นที่ 2 การพัฒนาพลังงานทดแทนจากวัสดุหมุนเวียนชีวภาพ เช่น เศษพวกข้าวโพดหรือว่าเปลือกแมคคาเดเมีย เป็นต้น ประเด็นที่ 3 การรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกหรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือย่อยสลายได้ใช้แทนพลาสติก ซึ่งวัสดุตั้งต้นจากพวกขยะทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบสับปะรด ใบต้นกล้วย เป็นต้น ประเด็นที่ 4 การยกระดับคุณภาพของคน การพัฒนาวัสดุทันตกรรมสมัยใหม่เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ อย่างการพัฒนาหน้ากาก Nano Guard กัน COVID-19 และ PM 2.5