สระแก้ว - ปศุสัตว์อำเภอตาพระยา จ.สระแก้ว เตือนชาวบ้านเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าในวัว หลังพบวัวเนื้อชาวบ้านติดเชื้อโดยไม่ทราบสาเหตุ พร้อมประกาศเป็นพื้นที่ระบาดชั่วคราวในรัศมีที่พบการติดเชื้อ ก่อนปูพรมฉีดยาป้องกันโรคให้หมาและแมวอีกกว่า 300 ตัว
วันนี้ (1 เม.ย.) นายบุญส่ง จิตหาญ หัวหน้าสำนักงานปศุสัตว์อำเภอตาพระยา จ.สระแก้ว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด ได้เดินทางลงพื้นที่บ้านสองพี่น้อง ม.5 ต.โคคลาน เพื่อตรวจหาสาเหตุวัวเนื้อของชาวบ้านติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ หลังได้รับแจ้งจาก นายสุระ ชำนาญกิจ เกษตรกรในพื้นที่ซึ่งเลี้ยงวัวเนื้อ จำนวน 3 ตัวไว้ที่หน้าบ้านและพบว่ามีอาการคล้ายติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
โดยหัวหน้าสำนักงานปศุสัตว์อำเภอตาพระยา เผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า วัวเนื้อของนายสุระ มีอาการร้องและส่งเสียงดังตลอดทั้งวันและคืนโดยไม่ยอมกินน้ำมาตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา จนเจ้าของต้องตัดสินใจตัดหัวลูกวัวส่งให้เจ้าหน้าที่นำไปตรวจหาเชื้อที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการทางสัตวแพทย์ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี และผลตรวจยืนยันเมื่อวันที่ 30 มี.ค. พบว่ามีเชื้อพิษสุนัขบ้า
เบื้องต้น เจ้าของวัวเนื้อยอมรับว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่รู้สาเหตุว่าวัวที่เลี้ยงไว้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร เนื่องจากในทุกวันตนเองจะเลี้ยงวัวด้วยการนำไปผูกไว้ตามลานวัดบ้านสองพี่น้อง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับคอกวัวของตนเอง และเมื่อตกเย็นก็จะนำกลับเข้าคอกตามปกติ และไม่พบว่ามีร่องรอยถูกกัดแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ปศุสัตว์อำเภอตาพระยาเผยถึงแนวทางการปฏิบัติในเบื้องต้น ได้ประกาศให้พื้นที่บางส่วนของ อ.ตาพระยา เป็นพื้นที่โรคระบาดชั่วคราวชนิดโรคพิษสุนัขบ้าครอบคลุมใน 4 หมู่บ้าน รัศมีวงกว้างประมาณ 1 กิโลเมตร นับจากจุดที่พบวัวชาวบ้านติดเชื้อให้เป็นศูนย์กลาง
จากนั้นจึงจะเร่งฉีดยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้หมาแมวในหมู่บ้านสองพี่น้องทั้งหมด ก่อนจะขยายพื้นที่ออกไปให้ครอบคลุมทั้ง 4 หมู่บ้าน ที่มีหมาและแมวประมาณ 300 ตัว
ส่วนชาวบ้านที่เลี้ยงวัวเนื้อจากนี้ไปอีกประมาณ 15 วัน จะต้องเฝ้าสังเกตอาการวัวที่เลี้ยงไว้อย่างใกล้ชิด และหากพบอาการผิดสังเกตจะต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ในทันที
อย่างไรก็ดี มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า พาหะนำโรคพิษสุนัขบ้าให้ไปติดยังวัวเลี้ยงของชาวบ้านอาจจะเกิดจากสุนัขบ้านหรือสุนัขภายในวัด หรืออาจมีความเป็นไปได้ว่า วัวเนื้อของชาวบ้านอาจจะถูกสุนัขจิ้งจอกกัด เนื่องจากกรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในพื้นที่หมู่บ้านที่มีแนวเขตติดกับป่าอุทยานแห่งชาติตาพระยา