xs
xsm
sm
md
lg

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระของบกว่า 188 ล้านบาท ทุ่มแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - หัวหน้าเขตฯ สลักพระ จัดทำแผนของบกว่า 188 ล้านบาท ทุ่มแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์สัตว์ป่า ท้องที่ อ.เมือง อ.ศรีสวัสดิ์ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี เพื่อความยั่งยืน

วันนี้ (30 มี.ค.) นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ไปร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการป้องกันแก้ไขปัญหาช้างป่าบุกรุกที่ทำกิน และเยียวยาผลกระทบจากภัยช้างป่าอย่างเป็นธรรม ที่อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ

โดยในวันดังกล่าวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระได้จัดทำแผนการจัดทำคำของบประมาณ การแก้ไขปัญหาช้างป่างนอกพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ พื้นที่ อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอบ่อพลอย ไปถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาช้างป่า สภาผู้แทนราษฎร ไปแล้ว

สำหรับรูปแบบปัญหาช้างป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จากการศึกษาประชากรด้วยวิธีการนับตัวจากลายพิมพ์รหัสพันธุกรรม (DNA) โดยใช้ไมโครแซทเทลไลท์ดีเอ็นเอ สำรวจเมื่อปี พ.ศ.2556 พบว่า ช้างป่าสลักพระมีจำนวนอย่างน้อย 200 ตัว ประกอบด้วยช้างวัยก่อนเจริญพันธุ์ (Immature class) 64% และช้างในวัยเจริญพันธุ์ (mature class) 36% จากการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เก็บพิกัดการพบร่องรอยช้างป่า คาดว่า ปัจจุบันมีช้างป่าไม่ต่ำกว่า 250 ตัว

กลุ่มที่ออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กลุ่มย่อย 2-10 ตัว และตัวหากินเดี่ยวๆ ออกนอกพื้นที่เป็นประจำ และบางตัวยึดพื้นที่แนวชายขอบป่า ติดพื้นที่เกษตรเป็นถิ่นอาศัยประจำ และไม่กลับเข้าป่าด้านใน แก้ไขปัญหาด้วยการสร้างแนวป้องกัน ส่วนกลุ่มที่ไม่เคยออก หรือออกแล้วมีวงรอบกลับเข้าป่าด้านใน เป็นช้างฝูงส่วนมากที่ไม่เคยออกนอกพื้นที่ป่า ป้องกันปัญหาโดยการพัฒนาถิ่นที่อยู่อาศัยให้อุดมสมบูรณ์ตลอดเวลา

สรุปแผนงบประมาณการแก้ไขปัญหาช้างป่านอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์สัตว์ป่า ท้องที่ อ.เมือง อ.ศรีสวัสดิ์ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี จำนวน 188,010,000 บาท (หนึ่งร้อยแปดสิบแปดล้านหนึ่งหมื่นบาทถ้วน) เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังป้องกัน และผลักดันช้างป่า เป็นเงิน 9,170,000 บาท ระยะสั้น เร่งด่วน การจัดทำหรือสร้างสิ่งกีดขวางป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 70 กิโลเมตร เป็นเงิน 146,300,000 บาท ระยะยาว จำเป็นอย่างยิ่ง การพัฒนาศักยภาพถิ่นที่อยู่อาศัย เป็นเงิน 32,540,000 บาท ต่อเนื่องตลอดเวลา

การเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังป้องกัน และผลักดันช้างป่า เป็นเงิน 9,170,000 บาท กิจกรรมเครือข่ายอาสาสมัครผลักดันช้างป่ากลับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 23 เครือข่าย จำนวนเงิน 4,600,000 บาท เครือข่ายอาสาสมัครผลักดันช้างป่ากลับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 15 เครือข่าย พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ 5 เครือข่าย พื้นที่เตรียมประกาศเขตห้ามล่า ศรีสวัสดิ์ 3 เครือข่าย ครอบคลุมหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบและมีการรวมกลุ่มผลักดันช้างป่าประจำ

โครงการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติเจ้าหน้าที่ชุดเครือข่ายอาสาสมัครผลักดันช้างป่ากลับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 2 ครั้งต่อปี จำนวนเงิน 1,000,000 บาท โดยจัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติเพื่อความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาช้างป่า วิธีการเฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่าอย่างปลอดภัยจากหน่วยงานที่มีความรู้และประสบการณ์

ติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap) แบบ Real Time (เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 4G) จำนวน 100 ตัว เป็นเงินจำนวน 3,570,000 บาท ซึ่งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (NCAPS) unit cost ตัวละ 35,700 บาท เพื่อสร้างระบบเตือนภัยเมื่อช้างป่าออกนอกพื้นที่ เสริมสร้างประสิทธิภาพการป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ได้ทันเหตุการณ์

สำหรับการจัดทำหรือสร้างสิ่งกีดขวางป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 70 กิโลเมตร เป็นเงิน 146,300,000 บาท พื้นที่ดำเนินการ อ.เมืองกาญจนบุรี สร้างรั้วกันช้างกึ่งถาวรประกอบคูกันช้าง ระยะทาง 25 กิโลเมตร งบประมาณจำนวน 52,500,000 บาท โดยรั้วกึ่งถาวรงบประมาณ กม.ละ 1,500,000 บาท ประกอบคูกันช้าง กม.ละ 600,000 บาท ครอบคลุมพื้นที่ได้รับผลกระทบ ต.วังด้ง ต.ช่องสะเดา สร้างรั้วไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ 7 กิโลเมตร เป็นเงินจำนวน 14,000,000 บาท โดยใช้งบประมาณการก่อสร้าง กม.ละ 2,000,000 บาท โดยสร้างภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ระยะทาง 7 กิโลเมตร เพื่อนำมาเพิ่มประสิทธิภาพรั้วกึ่งถาวรแบบสลิงที่ดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2563

อ.ศรีสวัสดิ์ สร้างรั้วกันช้างกึ่งถาวรประกอบคูกันช้าง ระยะทาง 34 กิโลเมตร งบประมาณ 71,400,000 บาท งบประมาณการสร้างรั้วกึ่งถาวร กม.ละ 1,500,000 บาท ประกอบคูกันช้าง กม.ละ 600,000 บาท ครอบคลุมพื้นที่ราษฎรรับผลกระทบ ต.ท่ากระดาน ต.หนองเป็ด ต.ด่านแม่แฉลบ ต.เขาโจด ทั้งหมดสร้างภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ระยะทาง 29 กิโลเมตร และพื้นที่เตรียมประกาศเขตห้ามล่าศรีสวัสดิ์ จำนวน 5 กิโลเมตร

อ.บ่อพลอย สร้างรั้วกันช้าง ประกอบคูกันช้าง 4 กิโลเมตร งบประมาณ 8,400,000 บาท โดยสร้างรั้วกึ่งถาวร กม.ละ 1,500,000 บาท ประกอบคูกันช้าง กม.ละ 600,000 บาท ครอบคลุมพื้นที่ราษฎรรับผลกระทบ ต.หนองกุ่ม ต.บ่อพลอย

การเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังป้องกัน และผลักดันช้างป่า เป็นเงิน 32,540,000 บาท งบประมาณดังกล่าวใช้ในกิจกรรมการขุดแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 2,000 ลบ.ม.จำนวน 1 แหล่ง เป็นเงินจำนวน 2,200,000 บาท โดยขุดแหล่งน้ำภายในพื้นที่ตอนกลางของเขตรักษาพันธุุ์สัตว์ป่าสลักพระ บริเวณแหล่งอาศัยสำคัญของช้างป่า

ปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมที่มีลักษณะตื้น จำนวน 40 แหล่ง งบประมาณ 8,000,000 บาท โดยปรับปรุงแหล่งน้ำตามวงรอบการจัดสร้าง เนื่องจากแหล่งน้ำที่ช้างป่าใช้ประโยชน์เมื่อ 3-5 ปีที่ผ่านมานั้น จะมีลักษณะเป็นดินเลนตื้น ประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำได้น้อยมาก และไม่สามารถเก็บได้ตลอดทั้งปี เจาะบ่อบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์เซลล์ จำนวน 6 จุด งบประมาณ 10,000,000 บาท โดยขุดเจาะบริเวณแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีการขุดสร้างแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในบ่อน้ำ โดยจะขุดเจาะบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าที่ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติในการดำรงชีพในป่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันดูแลรักษา

ปลูกพืชไร่อาหารช้างป่า จำนวน 2,000 ไร่ งบประมาณ จำนวน 10,000,000 บาท การปลูกไผ่เพื่อเป็นพืชอาหารให้ช้างป่าและฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ประโยชน์จากป่าไผ่ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าต้นน้ำเพิ่มขึ้น และปรับปรุงแปลงทุ่งหญ้าสำหรับสัตว์ป่า จำนวน 2,000 ไร่ งบประมาณ จำนวน 2,340,000 บาท เพื่อดูแลรักษาสภาพแปลงทุ่งหญ้าในพื้นที่ป่าธรรมชาติให้คงสภาพทุ่งหญ้าที่ต้องมีการปรับปรุงทุกปี ไม่ให้มีวัชพืชที่สัตว์ป่าไม่ใช้ประโยชน์ เช่น สาบเสือ หนามคนทา ขึ้นปกคลุม










กำลังโหลดความคิดเห็น