เชียงใหม่ - สสจ.เชียงใหม่เผยช่วงฝุ่นควันส่งผลผู้ป่วยกลุ่มโรคเกี่ยวข้องมลพิษอากาศเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติ แต่พบช่วง 9 สัปดาห์แรกปี 64 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เชื่อปัจจัยสำคัญมาจากคนสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันโควิด-19 เป็นตัวช่วย แต่ห่วงผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวมากกว่า ขณะที่สถานการณ์ล่าสุดฝุ่นควันจางลงบ้างแต่ยังเกินค่ามาตรฐาน
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า วันนี้ (17 มี.ค. 64) สถานการณ์ฝุ่นควันและคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่คลี่คลายลงจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยฝุ่นควันที่ปกคลุมทั่วทั้งตัวเมืองแม้จะยังคงมีอยู่แต่จางลงอย่างเห็นได้ชัดและทำให้สามารถมองเห็นยอดดอยสุเทพจากระยะไกลได้บ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 และดัชนีคุณภาพอากาศยังคงสูงเกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ รายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษจากสถานีตรวจวัดในพื้นที่ตำบลช้างเผือก, ตำบลศรีภูมิ และตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง เมื่อเวลา 09.00 น. อยู่ที่ 62 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, 65 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ 51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ จากค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 129, 137 และ 101 ตามลำดับ จากค่ามาตรฐานไม่เกิน 100
ขณะที่ นายแพทย์ วรัญญู จำนงประสาทพร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควันและคุณภาพอากาศ แนะนำให้ประชาชนหมั่นรักษาสุขภาพและดูแลตัวเองเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ป่วยติดเตียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด เป็นต้น ซึ่งอาจได้รับผลกระทบทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น โดยให้พยายามอยู่แต่ในอาคาร หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งและสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงควรได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดและหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ ซึ่งหากพบอาการผิดปกติให้รีบปรึกษาหรือพบแพทย์โดยเร็ว
สำหรับจำนวนผู้ป่วยใน 4 กลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับปัญหามลพิษอากาศ ได้แก่ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ, กลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง, กลุ่มโรคตาอักเสบ และกลุ่มโรคผิวหนังนั้น นายแพทย์ วรัญญูเปิดเผยว่า ในช่วงที่เกิดปัญหาคุณภาพอากาศส่งผลให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 สัปดาห์แรกของปี 2564 จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนผู้ป่วยรวม 22,802 ราย ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่มีจำนวนผู้ป่วย 37,659 ราย โดยจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มโรคทางเดินหายใจเพียงกลุ่มเดียว ในช่วง 9 สัปดาห์แรกของปี 2564 มีจำนวน 15,209 ราย ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 2563 มีจำนวน 30,994 ราย ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยลดลงเชื่อว่ามาจากการที่ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยกันแพร่หลายมากขึ้นเพื่อป้องกันโควิด-19 และส่งผลดีต่อการป้องกันโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจไปด้วย ทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลง
ทั้งนี้ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ย้ำว่า ผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาฝุ่นควันและมลพิษอากาศนั้นไม่ได้อยู่แค่เพียงการกำเริบของอาการเจ็บป่วยในช่วงสถานการณ์เท่านั้น เพราะแต่ละคนอาจเกิดปฏิกิริยาตอบสนองแตกต่างกันไปจากสถานการณ์เดียวกัน เช่น บางคนอาจจะแสดงอาการทันที แต่บางคนอาจจะสะสมอาการ ดังนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นอยู่ตรงผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว เนื่องจากมีงานวิจัยที่พบว่ามลพิษอากาศอาจทำให้เกิดการป่วยเป็นมะเร็งและอายุขัยเฉลี่ยของคนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาจะน้อยกว่าคนในพื้นที่ที่ไม่มีปัญหา ฉะนั้น การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดคือต้องพยายามจัดการที่ต้นเหตุทั้งการเผาและแหล่งก่อมลพิษต่างๆ ให้ลดน้อยลงมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้