xs
xsm
sm
md
lg

เผยจุดกำเนิดน้ำพุโซดา เกิดจากน้ำมีอุณหภูมิสูงไหลผ่านชั้นหินปูนยุคออร์โดวิเชียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - อ.มหิดล เผยพุบาดาลรสชาติซ่าคล้ายโซดา เกิดจากน้ำมีอุณหภูมิสูงไหลผ่านชั้นหินปูนยุคออร์โดวิเชียน ที่มีองค์ประกอบเป็นสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) เมื่อหินปูนได้รับความร้อนและเกิดปฏิกิริยาการคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกมา และสะสมอยู่ในน้ำบาดาล ทำให้น้ำบาดาลพุในบริเวณนี้มีความซ่าคล้ายกับโซดา

วันนี้ (9 มี.ค.) นายณรงค์ศักดิ์ แก้วดำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาธรณีศาสตร์ วิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า บ่อน้ำพุโซดาในพื้นที่ ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี เป็นน้ำบาดาลใต้ดินที่เกิดอยู่ในชั้นดิน กรวด ทราย หรือหินซึ่งอยู่ลึกจากผิวดินเกินความลึกที่รัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่จะกำหนดความลึกน้อยกว่าสิบเมตรมิได้ (พระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ.2520)

น้ำบาดาลจะถูกกักเก็บอยู่ภายในช่องว่างระหว่างเม็ดตะกอน หรือรอยแตกของชั้นหิน โดยจะมีชั้นกั้นน้ำปิดทับอยู่ด้านบนหรือไม่ก็ได้ ซึ่งเรียกส่วนที่เก็บน้ำและกั้นน้ำรวมกันว่าชั้นน้ำบาดาล สามารถจำแนกชนิดของชั้นน้ำบาดาลที่สำคัญ ได้แก่ ชั้นน้ำบาดาลไร้แรงดัน และชั้นน้ำบาดาลมีแรงดัน

ชั้นน้ำบาดาลไร้แรงดัน หมายถึง ชั้นที่มีน้ำบาดาลกักเก็บอยู่โดยไม่มีชั้นหินกั้นน้ำปิดทับอยู่ด้านบน เป็นชั้นน้ำบาดาลที่อยู่ถัดจากผิวดินลงไปโดยมีระดับน้ำบาดาลอยู่บนสุดของชั้นน้ำบาดาล ส่วนชั้นน้ำบาดาลมีแรงดัน หมายถึง ชั้นน้ำบาดาลที่มีชั้นกั้นน้ำปิดอยู่ด้านบนส่งผลให้น้ำบาดาลอยู่ภายใต้แรงดันที่มากกว่าแรงดันของบรรยากาศ

ซึ่งพบว่าระดับน้ำบาดาลอยู่สูงกว่าระดับความลึกของชั้นน้ำบาดาล ซึ่งเรียกว่าระดับแรงดันน้ำ ในกรณีที่มีการเจาะบ่อน้ำบาดาลในตำแหน่งที่เป็นชั้นน้ำบาดาลมีแรงดันและมีระดับแรงดันน้ำสูงกว่าระดับภูมิประเทศ (พื้นดิน) น้ำในบ่อน้ำบาดาลก็จะพุ่งขึ้นมาโดยไม่ต้องมีการสูบ เรียกว่า บ่อน้ำบาดาลพุ (รูปที่ 1) ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดน้ำบาดาลพุในพื้นที่ตำบลห้วยกระเจา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี

น้ำบาดาลพุ ในพื้นที่ตำบลห้วยกระเจาเกิดจากการเจาะบ่อน้ำบาดาลในชั้นน้ำบาดาลมีแรงดัน และมีระดับแรงดันน้ำสูงกว่าระดับพื้นดิน อีกทั้งน้ำบาดาลได้รับความร้อนจากชั้นหินแกรนิตที่วางตัวอยู่บริเวณใกล้เคียง ทำให้น้ำบาดาลมีอุณหภูมิสูงขึ้น และไหลผ่านชั้นหินปูนยุคออร์โดวิเชียนแล้วแทรกดันขึ้นมาตามรอยแตกของหินแปรยุคไซลูเรียน-ดีโวเนียน (รูปที่ 2) ผ่านบ่อน้ำบาดาลขึ้นสู่บนผิวดิน ที่พบเป็นลักษณะของน้ำที่พุ่งสูงขึ้นจากปากบ่อ อีกทั้งยังพบว่าน้ำที่ออกจากบ่อน้ำบาดาลมีลักษณะซ่าคล้ายโซดา หรือที่เรียกกันว่า น้ำบาดาลโซดา

น้ำบาดาลโซดา เกิดจากน้ำบาดาลที่มีอุณหภูมิสูงไหลผ่านชั้นหินปูนยุคออร์โดวิเชียนที่มีองค์ประกอบเป็นสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) เมื่อหินปูนได้รับความร้อนและเกิดปฏิกิริยาการคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกมาและสะสมอยู่ในน้ำบาดาล ทำให้น้ำบาดาลพุในบริเวณนี้มีความซ่าคล้ายกับโซดา แต่หากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมอยู่ในน้ำลดลง ความซ่าก็จะลดลงเช่นกัน ซึ่งคล้ายกับการเปิดฝาน้ำโซดาหรือน้ำอัดลมแล้วตั้งทิ้งไว้ ความซ่าก็จะลดลง

จากข้อมูลพื้นที่ศักยภาพน้ำบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พบว่า มีพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาน้ำบาดาลคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 28,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลบ่อพลอย และตำบลห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี

ซึ่งสามารถพัฒนาน้ำบาดาลในรอยแตกของหินขึ้นมาใช้ได้ในปริมาณ 10 ถึงมากกว่า 50 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง (รูปที่ 3) แต่ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของน้ำบาดาลก่อนนำไปใช้ประโยชน์โดยเฉพาะการบริโภค สำหรับโอกาสพบแหล่งน้ำบาดาลโซดาในพื้นที่อื่นใกล้เคียง ต้องอาศัยการศึกษาและสำรวจทางธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา ธรณีฟิสิกส์ ตลอดทั้งการเจาะสำรวจเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการประเมินศักยภาพของน้ำบาดาลต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น