ประจวบคีรีขันธ์- สลด!! ลูกช้างป่ากุยบุรีอายุ 1-2 ปี นอนตายในแปลงปลูกต้นตะเคียนทอง ภายในแปลงเพาะพันธุ์กล้าไม้ของสถานีวนวัฒนวิจัยประจวบคีรีขันธ์
วันนี้ (4 มี.ค.) น.ส.สุพร พลพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่า พบลูกช้างนอนตายในแปลงเพาะพันธุ์กล้าไม้ สถานีวนวัฒนวิจัยประจวบคีรีขันธ์ ม.9 บ้านย่านซื่อ ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงรายงานให้ นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้ทราบ จากนั้นประสานสัตวแพทย์หญิงภาวิณี แก้วเกม สัตวแพทย์สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย จ.เพชรบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่สัตวบาล เข้าทำการตรวจสอบและผ่าซากลูกช้างป่า นางชนิษฐา จันทโชติ หัวหน้าสถานีวนวัฒนวิจัยประจวบคีรีขันธ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พนักงานสอบสวน สภ.บ้านยางชุม โดยมี นายสนธยา ปูปาน และนายอาทิตย์ เล็กจินดา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.9 บ้านย่านซื่อ ร่วมตรวจสอบซากลูกช้างป่า
สำหรับจุดที่พบลูกช้างป่านี้อยู่ตรงบริเวณแปลงปลูกต้นตะเคียนทอง ภายในแปลงเพาะพันธุ์กล้าไม้ของสถานีวนวัฒนวิจัยประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ใช้เครื่องสแกนวัตถุโลหะตรวจสอบบนซากลูกช้างป่า ซึ่งไม่พบวัตถุโลหะใดบนตัวลูกช้าง
จากนั้นสัตวแพทย์หญิงภาวิณี แก้วเกม สัตวแพทย์สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย จ.เพชรบุรี ได้ตรวจสอบซากลูกช้างป่า พบว่า ลูกช้างป่าที่พบเป็นเพศผู้ มีอายุประมาณ 1-2 ปีเท่านั้น มีขนายยื่นออกมาที่มุมปากเพียงเล็กน้อย คาดว่าตายมาแล้วประมาณ 10 วัน เนื่องจากหนอนที่อยู่บนลูกช้างมีขนาดเข้าสู่ระยะที่ 2 แล้ว เมื่อผ่าซากพบว่า อวัยวะภายในเน่าเสียหายทั้งหมด
เบื้องต้น ไม่พบสิ่งผิดปกติใดในตัวลูกช้าง จึงได้เก็บชิ้นส่วนกระเพาะอาหาร และกระดูกไขสันหลัง เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อโรคเฮอร์ปีส์ (EEHV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสแฝงในลูกช้างป่า เมื่อร่างกายอ่อนแอ เกิดภาวะเครียด เชื้อ EEHV จะแสดงอาการทำให้ลูกช้างป่าเจ็บป่วยและตายในที่สุด
น.ส.สุพร พลพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่ทางอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ต้องเสียลูกช้างป่าไป ทั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงที่ลูกช้างป่าที่พบจะป่วยด้วยโรคเฮอร์ปีส์ (EEHV) ซึ่งเป็นไวรัสในลูกช้างป่า เมื่อประเมินจากอายุเป็นช้างเด็ก อายุแค่ 1-2 ปี ยังต้องกินนมจากแม่ช้าง แต่คาดว่าลูกช้างป่าจะเจ็บป่วยจนถูกโขลงทิ้ง ประกอบกับอดนมและเกิดภาวะเครียด จึงทำให้ตายในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ทางอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้ดำเนินการฝังซากลูกช้างป่าตรงจุดที่พบโดยโรยปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อตามหลักวิชาการ อีกทั้งยังได้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดบังสุกุลให้ลูกช้างป่าเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ตามความเชื่อของชาวบ้านในพื้นที่ด้วย