เชียงใหม่ - ม.เชียงใหม่จับมือเจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ลงนามบันทึกข้อตกลงวิจัยนวัตกรรมแมลงทหารเสือเพื่ออุตสาหกรรม BCG ดันต้นแบบระบบการเลี้ยงสำหรับชุมชนต่อยอดสร้างอาชีพเกษตรกร ผลิตน้ำมันสกัดทำเครื่องสำอาง
วันนี้ (15 ก.พ. 64) ที่ห้องประชุมบัวเรศ คำทอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ นิเวศ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.ไพรัตน์ ศรีชนะ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ งานวิจัยนวัตกรรมแมลงทหารเสือเพื่ออุตสาหกรรม BCG ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในการร่วมกันดำเนินโครงการนวัตกรรมน้ำมันสกัดจากแมลงทหารเสือเพื่อใช้เป็นสารสำคัญในเครื่องสำอาง ซึ่งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 5 ปีในการดำเนินงาน โดยบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สนับสนุนงบประมาณในงานวิจัยจำนวน 4,041,000 บาท
สำหรับงานวิจัยนวัตกรรมแมลงทหารเสือเพื่ออุตสาหกรรม BCG เป็นการดำเนินงานที่ต่อยอดจากโครงการนวัตกรรมน้ำมันสกัดจากแมลงทหารเสือเพื่อใช้เป็นสารสำคัญในเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นงานวิจัยแผนงาน SPEARHEAD ด้านเศรษฐกิจ ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งได้รับการนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งศึกษาการใช้ประโยชน์จากแมลงทหารเสือ
ปัจจุบันแมลงทหารเสือ Black soldier fly : Hermetia illucens (เฮอมีเทีย อิลลูเซนส์) เป็นแมลที่มีศักยภาพและกำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก โดยตัวอ่อนแมลง (Lavae) อุดมไปด้วยสารอาหาร สามารถเปลี่ยนอินทรียวัตถุให้เป็นโปรตีนและไขมันได้ ซึ่งสามารถพัฒนาการเลี้ยงให้เป็นรูปแบบอุตสาหกรรมหรือกึ่งอุตสาหกรรมได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยจุดเด่นที่น่าสนใจสำหรับแมลทหารเสือคือ กระบวนการย่อยอาหารภายใต้คอนเซ็ปต์ you are what you eat
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เล็งเห็นโอกาส และได้ศึกษาแนวทางการเพิ่มประโยชน์จากแมลงทหารเสือในหลากหลายด้านด้วยการบูรณาการงานวิจัยและความร่วมมือจากนักวิจัยหลากหลายคณะ ทั้งด้านการพัฒนาระบบการเลี้ยงประสิทธิภาพสูงและนำมาประยุกต์ใช้ทางด้านอาหารสัตว์ เครื่องสำอาง การพัฒนาการผลิตแมลงทหารเสือที่เหมาะสมต่อคุณภาพน้ำมันสกัด การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกรดไขมันของแมลงทหารเสือและการใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้ การพัฒนาต่อยอดสู่นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เวชสำอางครบวงจรจากแมลงทหารเสือ รวมไปถึงการทดสอบความเป็นพิษของน้ำมันสกัดจากตัวอ่อนแมลงทหารเสือ และการพัฒนาต่อยอดด้าน Biowaste หรือ Circular Feed ซึ่งสอดรับกับ BCG Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-CircularGreen Economy) ซึ่งเป็นโมเดลที่มหาวิทยาลัยชียงใหม่และประเทศไทยผลักดันให้เกิดความยั่งยืนตามแนวทาง SDGs
ขณะที่บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้สนับสนุนแนวคิดของอุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green Econmy) ซึ่งเป็นแนวคิดในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมายกระดับความสามารถในการผลิตอย่างยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และยกระดับประสิทธิภาพให้แก่เกษตรกรและชุมชน จึงมีแนวทางในการสนับสนุนความร่วมมือดำเนินงานวิจัยนวัตกรรมแมลงทหารเสือเพื่ออุตสาหกรรม BCG ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อต่อยอดและขยายผลในเชิงพาณิชย์ โดยเป้าหมายแรกคือ ต้นแบบระบบการเลี้ยงหนอนแมลงทหารเสือแบบ Smart Farm สำหรับชุมชนที่สามารถส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปต่อยอดและสร้างอาชีพ โดยนำผลิตผลทางการเกษตรเหลือใช้มาเปลี่ยนมูลค่า นอกจากนั้น บริษัทยังสนใจที่จะศึกษาการเพิ่มมูลค่าการหาสารสำคัญที่มีประโชน์ รวมไปถึงการทดสอบผลข้างเคียงเพื่อพัฒนาไปสู่ระดับอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนต่อไปได้