xs
xsm
sm
md
lg

เจ๋ง! มน.ประดิษฐ์ “น้องเมนู-หุ่นส่งอาหารกันโควิด” ส่งต่อเทคโนโลยี รพ.ทั่วไทยฟรีไม่มีสิทธิบัตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิษณุโลก - คณะแพทย์-วิศวะ ม.นเรศวรสร้าง “น้องเมนู-หุ่นยนต์ส่งอาหาร” ลดความเสี่ยงแพทย์-พยาบาลติดเชื้อโควิด-19 จากห้องความดันลบ แถมถ่ายทอดให้ รพ.ทั่วประเทศฟรีไม่มีจดสิทธิบัตร


ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มมีห้องแรงดันลบ รวมถึงส่วนโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้ปรับปรุงห้องผู้ป่วยเดิมให้เป็นห้องแรงดันลบ หรือ Negative Pressure Room จำนวน 8 เตียง ที่ชั้น 5 อาคารสิรินธร เรียกว่า Cohort Ward หรือหอผู้ป่วยรวมชนิดแรงดันลบ เริ่มให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2564

หลักการทำงานของห้องแรงดันลบ คือ ในห้องจะมีการดึงอากาศเพื่อให้เกิดแรงดันลบ อากาศเสียที่มีเชื้อปะปนอยู่ก็จะผ่าน HEPA Filter เพื่อส่งออกไปข้างนอก ก็จะกลายเป็นอากาศบริสุทธิ์ แล้วนำอากาศใหม่อากาศบริสุทธิ์ผ่าน HEPA Filter เข้าไปแทน ก็จะทำการรักษาในห้องนี้จนกว่าผู้ป่วยจะหาย ทำให้ไม่มีการแพร่กระจายของเชื้อออกไปสู่ข้างนอก

ล่าสุด ม.นเรศวรได้คิดค้นนวัตกรรม MENU Delivery Robot หรือน้องเมนู หุ่นยนต์เพื่อการขนส่งและการสื่อสารทางไกล (MENU ย่อมาจาก Medicine + Engineer + Naresuan University) เป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติคอยติดตามอาการผู้ป่วย และเรื่องการให้บริการดีขึ้นด้วย เช่น การส่งอาหาร การส่งยา หรือการพูดคุยกับผู้ป่วยแบบที่เห็นหน้ากัน เราก็ใช้หุ่นยนต์เป็นตัวเชื่อมตัว ลดการสัมผัสระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยลงไปอีกโดยเฉพาะผู้ป่วยติด COVID-19 มีต้นทุนการสร้างต้นแบบอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท ปัจจุบันผลิตได้แล้ว 5 ตัว


นายแพทย์ ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า น้องเมนูเกิดจากการทำงานคิดค้นของคณะวิศวกรรมศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงเป็นนวัตกรรมใหม่แห่งแรกของประเทศไทย ถือว่าเป็นต้นแบบ แต่ไม่จำเป็นต้องจดสิทธิบัตร เพราะปัจจุบันได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีรูปแบบนี้ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ 20 แห่ง เช่น คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ เป็นต้น โดยที่ไม่คิดมูลค่า เพราะถ้าคนไทยผลิตได้เองต้นทุนจะต่ำมาก ดีกว่านำเข้าจากต่างประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น