เชียงใหม่ - เชียงใหม่อากาศแปรปรวน ฝนกระหน่ำทั่วพื้นที่ ลูกเห็บถล่มขาวโพลน “ดอยอ่างขาง” เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย ขณะที่อุตุฯ เตือนป้องกันระวังสิ่งปลูกสร้างและพื้นที่เกษตร
วันนี้ (8 ก.พ. 64) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 12.35 น. ได้เกิดฝนตก และมีลูกเห็บตก พื้นที่บ้านม่วงชุม ม.10 ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งฝนหยุดตกแล้ว แต่ยังคงมีเมฆฝน บรรยากาศทั่วไปมืดครึ้ม อย่างไรก็ตามยังไม่ได้รับรายงานผลกระทบและความเสียหายแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน โซเชียลมีเดียมีการแชร์ภาพลูกเห็บตกจำนวนมากจนขาวโพลนเต็มพื้นและหลังคาในพื้นที่ดอยอ่างขาง อ.ฝาง โดยเฉพาะโรงเรียนเทพศิรินทร์ 9 นอกจากนี้ยังมีรายงานฝนตกหนักและลูกเห็บตกในพื้นที่ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ด้วย
ด้าน ว่าที่ ร้อยตรี ปรีชา จินต์ธนาวัตน์ เวรพยากรณ์อากาศ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ได้มีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลาง ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง เกิดขึ้น โดยมีลูกเห็บตกบางแห่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ส่วนในช่วงวันที่ 10-12 ก.พ. 64 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว โดยอุณหภูมิจะลดลง 4-6 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 13-14 ก.พ. 64 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางที่ปกคลุมบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดแก่ผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ส่วนในช่วงวันที่ 10-14 ก.พ. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย